นายกมล เชียงวงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ค.3) สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) โครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะที่ 2 ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท ซีคอท จำกัด โดยมีว่าที่ พ.ต.ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ และ นายอดิศักดิ์ กิจเจริธนารักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าพระนครใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายศิริวัฒน์ ธนะผลเลิศ พลังงานจังหวัดสมุทรปราการ ประชาชนในพื้นที่ศึกษารัศมี 5 กิโลเมตร จากขอบเขตพื้นที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา ศาสนสถาน โรงงานอุตสาหกรรม องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และประชาชนผู้ที่สนใจร่วมรับฟังความคิดเห็น จำนวน 799 คน
นายขรรชัย เกรียงไกรอุดม ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอท จำกัด กล่าวว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.3 ในครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาได้นำเสนอผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมจากการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในเวที ค.1 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2560 และ ค.2 ระหว่างเดือนตุลาคม 2560 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา โดยพบว่าประชาชนที่ร่วมนำเสนอความคิดเห็นบนเวทีส่วนใหญ่มีข้อห่วงกังวลด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ ด้านฝุ่นละออง การจราจร ระดับเสียง การจัดการของเสีย เช่น ขยะและน้ำเสียระหว่างดำเนินโครงการ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการดูแลระบบนิเวศริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านความปลอดภัย อาทิ การวางมาตรการและระบบป้องกันอัคคีภัย ด้านสาธารณูปโภค อาทิ การดูแลด้านการศึกษา ถนนและระบบน้ำประปาให้เพียงพอกับความต้องการ และการดูแลด้านสุขภาพอนามัยของชุมชน รวมทั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้ถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบที่แท้จริงอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว และขอให้ กฟผ. พัฒนาชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมข้อคิดเห็นทั้งหมดจากทั้ง 3 เวที มาพิจารณาตามหลักวิชาการเพิ่มเติมให้ครอบคลุมข้อห่วงกังวลของประชาชนเพื่อนำไปจัดทำรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์ ก่อนนำส่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป
ด้านว่าที่ พ.ต.ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ขอขอบคุณประชาชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้สนใจทุกท่านที่ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง ตลอดจนแสดงความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลในเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.3 โครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะที่ 2 ในครั้งนี้ การสร้างโรงไฟฟ้าไม่ใช่เพียงเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศเท่านั้น แต่ประเด็นด้านสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งสำคัญที่ กฟผ. คำนึงถึงอยู่เสมอ โดย กฟผ. ยินดีน้อมรับทุกข้อเสนอแนะ เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้โรงไฟฟ้าสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนรอบโดยรอบพื้นที่ได้อย่างมีความสุข
สำหรับโครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะที่ 2 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,470 เมกะวัตต์ จะก่อสร้างในบริเวณพื้นที่ของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ในปัจจุบัน เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 1 และ 2 ที่จะปลดออกจากระบบภายใน ปี พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2565 ตามลำดับ โดยโครงการนี้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก และน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรอง ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าใหม่จะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง ส่งผลให้มีการระบายมลสารลดลง เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเขตนครหลวงต่อไป