วันที่26 มี.ค. 68เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมสองพันบุรี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมแสดงความคิดเห็นและปรึกษาหารือเกี่ยวกับร่างผังนโยบายระดับประเทศ โดยมี นายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย เลขานุการคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา ที่ปรึกษานายก อบจ. สุพรรณบุรี หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน นายอำเภอ ทั้ง 10 อำเภอ นายก อบต. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชนจังหวัดสุพรรณบุรี และภาคประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท ลพบุรี สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สระบุรี อ่างทอง กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี และพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมประมาณ 500 คน
ในการนี้ นางสาวจริยาพร จิตต์ใจมั่น รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้กล่าวรายงานความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการวางและจัดทำผังนโยบายระดับประเทศ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศเพื่อให้ทุกหน่วยงานของรัฐดำเนินการในด้านการใช้พื้นที่การพัฒนาเมืองและชนบท โครงสร้างพื้นฐานหลัก การพัฒนาพื้นที่พิเศษ และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาในทุกมิติ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ 6 ภาค สำหรับในวันนี้ เป็นการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ นำเสนอและอภิปราย ร่างผังนโยบายรายสาขา 14 สาขา อาทิ นโยบายโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยว นโยบายพัฒนาเมืองและชนบท นโยบายพื้นที่พัฒนาพิเศษ นโยบายการตั้งถิ่นฐานและระบบชุมชน นโยบายศิลปวัฒธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และนโยบายโครงสร้างพื้นฐานการสาธารณสุข เป็นต้น
ในโอกาสนี้ นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผังนโยบายระดับประเทศจะช่วยชี้นำการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ และกระจายความเจริญไปยังภูมิภาค ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคอาเซียน สนับสนุนให้มีการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เหมาะสมและปลอดภัย พัฒนาเมืองที่น่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีพื้นที่สีเขียวที่เพียงพอ และเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ให้ได้มาตรฐานสากล อนุรักษ์พื้นที่มรดกทางศิลปวัฒนธรรมให้เป็นต้นทุนในการสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้ง ส่งเสริมการพัฒนาเมืองที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตในด้านเทคโนโลยีและสังคม เช่น เมืองอัจฉริยะ (Smart City) และเมืองที่รองรับสังคมสูงวัย เป็นต้น
สำหรับพื้นที่ภาคกลาง ผังนโยบายระดับประเทศ ได้กำหนดบทบาทให้เป็นพื้นที่
ฐานเศรษฐกิจนวัตกรรม การท่องเที่ยว และสินค้าเกษตรคุณภาพสูง มีศักยภาพและ
เหมาะสมทั้งในด้านการเพาะปลูก การทำปศุสัตว์ และการประมง นอกจากนี้ ยังมีบทบาทด้านการท่องเที่ยวคุณภาพระดับนานาชาติ เช่น จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถูกบรรจุในโครงการไทยแลนด์ริเวียร่า และจังหวัดอยุธยาที่เป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ต่อไป