นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ โดยกระทรวงพลังงานได้ติดตาโครงการด้านพลังงานที่สำคัญ ๆ ทั้งด้านการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยการตรวจเยี่ยมโครงการที่สำคัญๆ ได้แก่ โครงการสนับสนุนการลงทุนการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงพยาบาลของรัฐ (Matching Fund) ซึ่งดำเนินการโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ที่ได้เข้าสนับสนุนการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ด้านพลังงานในโรงพยาบาลสตึก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ โดยลักษณะโครงการฯ พพ. ได้ให้การสนับสนุนเงินลงทุนร้อยละ 70 ของการเงินลงทุน โดยได้สนับสนุนใน 2 มาตรการที่สำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนหลอดฟลูออเรสเซนต์ 36 วัตต์ เป็นหลอดแอลอีดี 18 วัตต์ จำนวน 1,047 หลอด เปลี่ยนหลอดฟลูออเรสเซนต์ 18 วัตต์ เป็นหลอดแอลดีดี 9 วัตต์ จำนวน 30 หลอด และการติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ ทดแทนเครื่องปรับอากาศแบบเดิม ซึ่งจากการสนับสนุนดังกล่าว โรงพยาบาลสตึกสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 92,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้สูงถึงประมาณปีละ 360,000 บาท และสามารถคืนทุนได้เพียง 1 ปีเศษ
โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอินทรีย์บ้านโนนสำราญ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ที่เป็นตัวอย่างวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จ โดยจากภาพรวมโครงการหลักทั้งหมด ซึ่งกระทรวงพลังงานได้สนับสนุนทั่วพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ทั้งสิ้น 35 ระบบ ครอบคลุมพื้นที่ 8,433 ไร่ และมีเกษตรกรได้ประโยชน์ถึง 279 ราย นอกจากนี้ยังได้เพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 54,000 วัตต์ ช่วยให้เกษตรกรลดการใช้น้ำมันดีเซล 13,211 ลิตรต่อปี หรือช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณปีละ 340,000 บาท การเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าชีวมวลมุ่งเจริญ ไบโอแมส ซึ่งมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 17 เมกะวัตต์ และได้ตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของชาว อ.เมือง จ.สุรินทร์ ได้ประมาณ 33% โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลมุ่งเจริญ ฯ ได้ทำสัญญาขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 15.5 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ระบบ 115 เควี ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555
โดยโรงไฟฟ้าฯ ใช้เชื้อเพลิงแกลบเป็นหลัก ปีละประมาณ 100,000 ตัน ประมาณร้อยละ 40-60% ส่วนวัตถุดิบที่เหลือเป็นเศษไม้และเปลือกไม้ ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในวัสดุเหลือใช้ภาคเกษตรกรรมปีละประมาณ 130 ล้านบาท ลดก๊าซเรือนกระจก ปีละประมาณ 70,000 ตัน ลดการใช้ก๊าซธรรมชาติปีละประมาณ 10,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือคิดเป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท จ้างงานแรงงานในท้องถิ่นกว่า 170 ตำแหน่ง ช่วยลดปัญหาการอพยพแรงงาน ส่งผลให้สถาบันครอบครัวมีความอบอุ่น และเข้มแข็งขึ้น