นายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2560 ส.ป.ก.ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน ภายใต้คำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (คำสั่งที่ 132/2561 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561) ดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ โดยจัดให้มีการประชุมแผนงานร่วมกัน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 กรมชลประทานมีแผนสนับสนุนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ได้ศึกษาพื้นที่ไว้แล้ว 19 จังหวัด สามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้จำนวน 103 โครงการ งบประมาณ 5,057 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสนับสนุนแหล่งน้ำในโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ดำเนินการ 38 แปลง งบประมาณ 1,523 ล้านบาท
สำหรับในปี 2562 ส.ป.ก. จะดำเนินการศึกษาพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ 900,000 ไร่ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ บุรีรัมย์ เลย ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู จันทบุรี กระบี่ และสุราษฏร์ธานี เพื่อให้แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำมีความชัดเจน โดยกรมชลประทานสามารถกำหนดแผนงานและงบประมาณดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ส.ป.ก. ส่วนที่เหลือ ส.ป.ก.จะดำเนินการจัดจ้างสำรวจออกแบบพร้อมก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ พร้อมทั้งขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดสกลนคร โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ได้พระราชทานแนวทางให้กรมชลประทานก่อสร้างตั้งแต่ปี 2527 รวม 68 โครงการ ซึ่งทำให้พื้นที่ ส.ป.ก.เพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 121,170 ไร่
นายสุรจิตต์ กล่าวว่า ส.ป.ก.ได้จัดที่ดินและมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ 72 จังหวัด เกษตรกรได้รับประโยชน์ 2.82 ล้านราย รวม 2.89 ล้านแปลง พื้นที่ 35.8 ล้านไร่ หรือประมาณ 25% ของพื้นที่ภาคการเกษตรของประเทศไทย ในจำนวนนี้มีพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทานประมาณ 1.8 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่อีกประมาณ 10 ล้านไร่ อยู่นอกเขตชลประทาน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ประมาณ 24 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำ และแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่ง ส.ป.ก.ได้จัดที่ดินให้มีศักยภาพในการผลิตทางการเกษตร โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำ และระบบกระจายน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มผลผลิตและรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน
นายสุรจิตต์ ยังเปิดเผยถึงกรณีสวนไทยพัทยาถูกปิดประกาศบุกรุกที่ ส.ป.ก.กว่า 80 ไร่ ว่า เป็นเรื่องการใช้ที่ดินไม่ถูกต้องตามกฎหมายปฎิรูปที่ดิน ถ้าพบการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ผู้ครอบครองต้องเข้าสู่กระบวนการเรียกคืน มีการพิสูจน์สิทธิการได้มาของที่ดิน เพราะเดิมทีเป็นที่ของส.ป.ก. ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนกฎหมายทุกกรณีโดยปิดประกาศเพื่อตรวจสอบในแผนที่ส.ป.ก. แต่หากผู้ถือครองถ้ามีเอกสารสิทธิในที่ดินของกรมที่ดินก็ให้นำมายื่นคัดค้านที่จังหวัด เพื่อให้หน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบ ถ้าพบว่าบุกรุกจริงก็ต้องออกไป
อย่างไรก็จตาม ที่ผ่านมา 2 ปี มีการเรียกคืนตามมาตรา 44 จำนวน 5 แสนไร่ จากผู้ประกอบการรายใหญ่ เกิน 500 ไร่ขึ้นไปที่มีการใช้ที่ดินมิชอบด้วยกฎหมาย และยังมีพื้นที่ของส.ป.ก.ที่ยังไม่ได้จัดสรรสิทธิทั่วประเทศรวม 5 ล้านไร่ ซึ่งบางส่วนมีปัญหาทับซ้อนคาบเกี่ยวกับพื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวน จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่มีความชัดเจน กรณีวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา จ.พะเยา และพื้นที่อื่นๆ ที่มีการขยายตัวเป็นชุมชนเมือง
นอกจากนี้ ที่ดินส.ป.ก.ที่คืนมา 4 แสนไร่ เป็นที่ดินมีผู้ถือที่เกิน 500 ไร่ขึ้นไป ประมาณ 51 แปลง ขณะนี้ได้มีการพิสูจน์สิทธิคนครอบครองอยู่เดิม ถ้ามีเอกสารสิทธิอื่นตามกฎหมายที่ดินสามารถนำมาคัดค้านได้ เนื่องจากพื้นที่ส.ป.ก.จากเดิมเป็นป่าเสื่อมโทรมและตัดมาให้ประกาศเขตส.ป.ก. จะมีวัด โรงเรียน คนอยู่เดิมติดมาด้วย บางพื้นที่มีการออกเอกสารของกรมที่ดิน ก็ต้องคืนเจ้าของที่อยู่ก่อนมีสปก.ซี่งเป็นเรื่องกฎหมายที่ดินของประเทศที่มีหลายกระทรวง ต่างออกเอกสารสิทธิ ทำให้มีหลายรูปแบบ
อย่างไรก็ตามที่ดินของส.ป.ก.จะนำอะไรมาหักล้างไม่ได้ เรียกว่าตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ เช่น คดีเรียกคืนสนามแข่งรถ โบนันซ่า เขาใหญ่ ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดียังไม่จบ ซี่งในที่สุดก็ต้องคืนเพราะเป็นที่ส.ป.ก.ส่วนนายทุนจะดื้อแพ่งอยู่ต่ออย่างไรก็ต้องไปต่อสู้กันตามกฎหมาย
ทั้งในส่วนที่มีปัญหาการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินส.ป.ก.วังน้ำเขียว โดยสวมสิทธิให้ผู้ซื้อมาเสียภาษีดอกหญ้า เพราะยังมีปัญหาทับซ้อนกันสองสามเรื่อง ทั้งที่ป่าไม้ ที่ส.ป.ก.ทำให้ตอนนี้มีการซื้อขายกันสวมสิทธิกันมาก ดังนั้นทางแก้ไขอยู่ที่นโยบายรัฐ ต้องมีความชัดเจน ว่า เป็นที่ส.ป.ก.หรือป่าสวงน เพราะมีหลายพื้นที่ที่คาบเกี่ยวกับกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งทุกหน่วยงานไปทำหน้าที่ไปตามนโยบายรัฐบาลและเร่งแก้ไขอย่างจริงจังเพื่อหยุดปัญหาบุกรุกพื้นที่รัฐ นายสุรจิตต์ กล่าว