นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการการดำเนินงานของ มรภ.บุรีรัมย์ แนะให้พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ งานวิจัยต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพ เพิ่มมูลค่าสินค้า กระจายรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน-เป็นประธานประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาค ตอ.เฉียงเหนือตอนล่าง 1 แนะใช้แนวทางประชารัฐเชิญชวนภาคเอกชน ร่วมพัฒนากลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ เน้นใช้งบประมาณบูรณาการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
วันนี้ (8 พฤษภาคม 2561) เมื่อเวลา 08.00 น. ณ อาคารอเนกคุณาคาร มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมนิทรรศการการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ก่อนเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 โดยมี นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ รองศาสตราจารย์ มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และนักศึกษา ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมนิทรรศการ ซึ่งประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ขึ้นเครื่อง ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย กระยาสารท ผ้าภูอัคนีภูมิปัญญาชาวบ้านในการย้อมสีผ้าของบ้านเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับเลือกให้เป็น หมู่บ้าน OVC (OTOP Village Champion) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ยังมีสินค้าท้องถิ่น อาทิ ขนมเปี๊ยะ หมูเส้น จมูกข้าวผงชงดื่ม เป็นต้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณและขอให้มีการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ รวมถึงงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาคุณภาพ เพิ่มมูลค่าสินค้า กระจายรายได้สู่พี่น้องประชาชน และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เป็นแหล่งกระจายรายได้ของคนในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวต่อไป
จากนั้น ในเวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารอเนกคุณาคาร มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) โดยนายกรัฐมนตรีชี้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า การเดินทางลงพื้นที่ทุกครั้ง ไม่มีเป้าหมายการเมืองหรือเป้าหมายแฝงอื่นใด แต่ถือเป็นการสื่อสารสองทาง เพื่อการรับรู้ข้อมูล และความต้องการ เพื่อนำมาปรับปรุงโครงการต่าง ๆ ควบคู่กับการวางแผนระยะยาวให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาประเทศโดยรวม เน้นการใช้งบประมาณจังหวัด กลุ่มจังหวัดให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่ใช่การทุ่มงบประมาณลงไปในพื้นที่ใดเป็นพิเศษ การพัฒนากลุ่มจังหวัดจะต้องเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของไทย คือ มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว สอดประสานกับยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ข้อ คือ ความมั่นคง การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน นวัตกรรม การตลาด การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร โดยหลีกเลี่ยงการอุดหนุนราคาสินค้า พร้อมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องในศตวรรษ 21 ลดช่องว่างสังคม สร้างการเติบโตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และปรับสมดุลพัฒนาภาครัฐ สู่ e Government เพื่อลดปัญหาการคับคั่งของข้าราชการ เพื่อให้ทั้งประเทศเจริญไปพร้อมกัน คือ Stronger together และรัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง เช่นเดียวกับแนวทางการดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศ คือ Thailand +1 ภายในประเทศของเราคือ จังหวัด +1 หรือ Province +1 ใช้กลไกประชารัฐเป็นสำคัญ คือ รัฐบาล เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชนจะต้องร่วมมือกันเดินหน้าไปด้วยกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวชี้แจงด้วยว่า ขอให้ช่วยกันอธิบายภาคเอกชนและสื่อมวลชนให้เข้าใจว่า ได้สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด เพื่อขับเคลื่อนในส่วนเนื้องานของตนเอง และมาร่วมกันคิดกับเอกชน จะเข้าใจวิธีคิดและการดำเนินงานของราชการในวันนี้ เพราะการเมืองคือ การทำงานร่วมกัน เดินหน้าไปด้วยกัน ตามยุทธศาสตร์ชาติ คือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นั่นเอง
ภายหลังการรับฟังข้อเสนอต่าง ๆ จากที่ประชุม นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเสนอโครงการว่ามีความซับซ้อนหรือไม่ และข้อเสนอโครงการใดอยู่ในแผนการแล้ว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ และขอให้ดำเนินการตามลำดับความสำคัญ คำนึงถึงความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่จะได้รับเป็นหลัก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 มีเป้าประสงค์หลักเพื่อต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ของกลุ่มจังหวัด ที่ประกอบอาชีพการเกษตรให้ “หลุดพ้นจากความยากจน และสามารถพึ่งพาตนเองได้” อีกทั้งยังสอดคล้องกับการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับและเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านการขนส่งทั้งโครงข่ายหลักและโครงข่ายรอง นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีโอกาสเติบโตทางด้านเศรษฐกิจการค้า การลงุทน และสามารถเป็นประตูเชื่อมระหว่างประเทศ และอนุภูมิภาค AEC ด้วย