ทีมคณาจารย์ ม.มหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การประดิษฐ์อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ (DIY) ให้กับครูและนักเรียนโรงเรียนในพื้นที่เกิดไฟป่าต่อเนื่อง
วันที่ 10 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาจารย์ ดร.อาจารี แก้วเหล่ายูงอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้เปิดเผยว่า มีการจัดกิจกรรม “จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การประดิษฐ์อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ (DIY) ให้กับโรงเรียนในพื้นที่เผาซ้ำซาก อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี” ตามที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการดำเนินการนำร่องโครงการ “ลดการเผาในที่โล่งเพื่อสุขภาวะที่ดี ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี” ซึ่งมีอาจารย์ ดร.จุฑามาส แก้วสุข เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าวหลากหลายกิจกรรม พร้อมด้วยกิจกรรม “จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การประดิษฐ์อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ (DIY) ให้กับโรงเรียนในพื้นที่เผาซ้ำซาก อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี” ซึ่งมีเป้าหมายคือโรงเรียนในเขตพื้นที่รอบเขื่อนศรีนครินทร์ และดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมดังกล่าว จัดขึ้นจำนวน 2 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 ได้รับความร่วมมือกับโรงเรียนบ้านนาสวนในการใช้สถานที่ห้องคอมพิวเตอร์ ในการจัดกิจกรรม และวันที่ 19 มีนาคม 2568 ได้รับความร่วมมือกับโรงเรียนบ้านต้นมะพร้าวให้ใช้สถานที่ห้องประชุมจัดกิจกรรม โดยมีทีมคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นวิทยากรหลักในการบรรยายให้ความรู้ ประกอบด้วยคณาจารย์จากสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ นำโดยอาจารย์ ดร.อาจารี แก้วเหล่ายูง ผู้รับผิดชอบกิจกรรม พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ ,อาจารย์ ดร.เนติยา การะเกตุ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร และนายธีรภัทร เทพนม ศิษย์เก่าสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล และความร่วมมือจากวิทยากรหน่วยงานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร โดยนายเอกรินทร์ เอี่ยมพ่อค้า
กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องมลพิษอันเนื่องมากจากฝุ่น PM 2.5 ความเสี่ยงต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ เพื่อจะได้มีการสื่อสารการป้องกันตนเองอย่างถูกต้อง และฝึกปฏิบัติการเรียนรู้อุปกรณ์และโปรแกรมอาร์ดูโน่ (Arduino) ให้กับคุณครูและนักเรียน โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะถูกส่งมอบให้กับโรงเรียนภายหลังจากการอบรมอีกด้วย โดยจำนวนขึ้นอยู่กับความจำเป็นตามลักษณะและขนาดของโรงเรียน และจะมีการนำอุปกรณ์นี้ไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ในโรงเรียนที่ต้องทราบค่าฝุ่นที่มีอยู่จริง และในโอกาสนี้ ได้มีการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้พูดคุยกับคุณครูและนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่เป้าหมายซึ่งได้มีการแนะนำโรงเรียนของตนและนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและความรู้สึกในช่วงที่มีการเผาป่า เพื่อนำข้อมูลต่างๆ ไปหาแนวทางร่วมมือในการดำเนินการกิจกรรมและโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป
-----------------
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์