นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงชี้แจงกรณีนายภุชงค์ นุตราวงศ์ อดีตเลขาธิการกกต. ให้สัมภาษณ์ตั้งข้อสังเกตการเตรียมจัดพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่หากมีการจัดพิมพ์จะมีผู้ได้รับประโยชน์มหาศาล โดยมีการนำเอกสาร 3 ฉบับมาประกอบการแถลงข่าวคือ รายงานการประชุม กกต.วันที่ 25 ส.ค. 58 ชิ้นที่สองคำสั่งการแต่งตั้งคณะกรรรมการประสานการพิมพ์และการจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการเลือกตั้งที่ 2541/2558 และ ชิ้นที่สามรายงานการประชุมคณะกรรมการประสานงานการพิมพ์และจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง และบัตรออกเสียงประชามติของ กกต. ตั้งแต่ปี 2548-2557 จะเลือกใช้วิธีดำเนินการ 3 วิธี คือวิธีประกวดราคา วิธีพิเศษ และกรณีพิเศษ รวม 18 ครั้ง แยกเป็น ประกวดราคา 6 ครั้ง วิธีพิเศษ 10 ครั้ง และกรณีพิเศษ 2 ครั้ง
ส่วนการเตรียมจัดพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญชุดนายบวรศักดิ์ นั้น เดิมสมาชิกสภาปฏิรูปมีกำหนดที่จะลงมติในวันที่ 6 ก.ย. หากให้ความเห็นชอบก็จะต้องมีการลงประชามติประมาณกลางเดือนม.ค. หรือต้นก.พ. 59 ซึ่งมีการกำหนดให้กกต.มีหน้าที่จัดพิมพ์บัตรออกเสียงและเอกสารเผยแพร่ให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวน 67 ล้านฉบับ โดยในการประชุม กกต.วันที่ 25 ส.ค. ได้มีการหารือเรื่องดังกล่าวซึ่งตนเสนอว่าการจัดพิมพ์และส่งไปยังครัวเรือนผู้มีสิทธิอาจดำเนินการไม่ทัน จึงควรจัดพิมพ์ด้วยวิธีพิเศษ แต่ กกต.คนอื่น เห็นว่าควรดำเนินการด้วยวิธีปกติไปก่อน และได้มีการมอบให้สำนักงานบริหารกลางไปศึกษาว่าควรจะดำเนินการอย่างไร โดยยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ใด ๆ
นอกจากนี้สำนักงานยังได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการ ประสานการพิมพ์และจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดแผนการดำเนินการต่างๆ โดยมีนายภุชงค์ อดีตเลขาฯเป็นประธานดำเนินการ แต่การประชุมวันที่ 2 ก.ย.ซึ่งถือว่าเป็นครั้งสำคัญเพราะก่อนการลงมติของ สปช.เพียง 6 วัน นายภุชงค์กลับไม่ได้เข้าร่วมประชุมโดยขอลาป่วย
“วันนั้นคณะกรรมการประสานงานฯมีข้อสรุปให้มีการจัดหาผู้รับจ้างพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยวิธีประกวดราคาให้ บจก.ไปรษณีย์ไทยดำเนินการจัดส่ง อีกทั้งยังมีการสำรวจโรงพิมพ์ที่มีศักยภาพถึง 24 รายซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติกับเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือมีการล็อคเสป็ค ดังนั้นจึงชัดเจนว่า กกต.มีประสงค์ให้จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการประกวดราคาโปร่งใสเป็นธรรมก่อนเพื่อไม่ให้มีการฮั้ว แต่ตัวอดีตเลขาฯ กกต. ที่ดูแลรับผิดชอบกลับไม่อยู่ร่วมประชุม การระบุว่าที่ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นโชคดี ทำให้ไม่มีการลงประชามติจึงไม่มีการจัดพิมพ์ ไม่เช่นนั้นจะมีผู้ได้รับประโยชน์มหาศาล จึง เป็นการกล่าวเท็จโดยสิ้นเชิงซึ่ง กกต.จึงมีมติฟ้องหมิ่นประมาทนายภุชงค์ที่กล่าวในสิ่งที่สร้างความเสียหายต่อ กกต. ทั้งนี้เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายเรื่องที่จะฟ้องหมิ่นประมาทเท่านั้นกรณีใดเสียหายฟ้องทุกเรื่อง ทุกกรรมทุกวาระ บางทีก็พูดด้วยอารมณ์โดยลืมไปว่าตัวเองเป็นประธานในที่ประชุมด้วย การเลิกจ้างเพราะอนุกรรมการประเมินให้คะแนนเพียงแค่ 54.6 % จากเกณฑ์ที่จะต้องได้คะแนน 60 คะแนน”
ส่วนที่นายภุชงค์ยื่นอุทธรณ์จะพิจารณาว่ารับเรื่องอุทธรณ์ได้หรือไม่นั้น นายสมชัย กล่าวว่า กรณีนายภุชงค์ไม่ใช่พนักงานประจำเป็นพนักงานจ้างมาบริหาร มีสัญญาที่ต้องประเมินผลรายปี ถ้าผลการทำงานไม่เป็นที่พึงพอใจหรือทำตามเป้าหมายไม่ได้ กกต.มีสิทธิในการบอกเลิกสัญญาหรือเลิกจ้าง ดังนั้นการเลิกจ้างได้เชิญฝ่ายกฎหมายมาพิจารณาอย่างครบถ้วนแล้วเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งต้องใช้มติสี่ในห้า โดยผลครั้งแรกมีมติสี่ต่อหนึ่ง จึงถือเป็นเด็ดขาดแล้ว และนายภุชงค์ยังได้เงินสิทธิประโยชน์จากสามปีแปดเดือนเป็นสี่ปี จึงถือเป็นธรรม ไม่มีอคติ ส่วนจะรับเรื่องอุทธรณ์หรือไม่ต้องดูว่าประธาน กกต.จะนำเข้าสู่ที่ประชุมในวันอังคารหน้าหรือไม่
นายสมชัย ยังกล่าวด้วยว่า นายภุชงค์มีสิทธิที่จะร้องศาลปกครอง ศาลพระภูมิ นายกรัฐมนตรี แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของแต่ละศาลจะพิจารณา ทั้งนี้ กกต.จะชี้แจงข้อกล่าวหาทีละเรื่องเพราะมีคำตอบเชื่อมั่นว่าถูกต้องโปร่งใส ว่าไม่มีการดำเนินการตามที่กล่าวหาเพราะเป็นการโกหกคำโต จึงต้องฟ้องร้องหมิ่นประมาท