ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
อนุมัติวีซ่านศ.ต่างชาติแบบเรียลไทม์ แก้ใช้ วีซ่าเรียน ลอบทำงานในไทย
24 เม.ย. 2568

อว.ถก สตม. ตรวจเข้มนศ.ต่างชาติใช้วีซ่าเรียนลอบทำงานในไทย พร้อมกำหนดกรอบหลักสูตรแบบ Non-Degree ที่รับนักศึกษาต่างชาติมาเรียนใหม่ สตม.จัดส่งข้อมูลสถิติการอนุมัติวีซ่านศ.ต่างชาติแบบเรียลไทม์ แก้ลักลอบทำงานผิดกฎหมายในไทย

จากกรณีมีการตั้งข้อสังเกตการสวมสิทธิวิศวกรจีนที่คุมไซต์งานก่อสร้างในประเทศไทย โดยอาศัยวีซ่านักศึกษา เข้ามาทำงานในโครงการต่างๆ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) 

ขณะที่ เพจ CSI LA  ได้เปิดเผยกรณีคล้ายๆ กันที่จังหวัดลำพูน โดยระบุว่า ต่อวีซาที่ ตม. ก่อนกระจายเข้าไซต์งานทั่วประเทศหัวละ 10,000 บาท มีรถตู้รับ-ส่งครบวงจรคนพวกนี้ ไม่ได้มาเรียน แต่เข้ามาทำงานผิดกฎหมายแบบเต็มระบบ

นอกจากนั้น เพจ รู้ทันจีน ได้โพสต์ภาพวีซ่านักเรียนจีนหลายราย พร้อมให้รายละเอียดขบวนการออกวีซานักเรียนจีน ที่มีการขายแพ็กเกจต่อวีซ่านักเรียนในประเทศไทย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนจริงๆ ทั้งนี้ยังระบุว่าเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐฯ และมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ที่เชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆ

ส่งหนังสือมหาวิทยาลัยแจงรายละเอียดภายใน 1 สัปดาห์

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงการดำเนินการตรวจสอบกรณีที่มีข่าวว่าคนจีนได้วีซ่านักเรียนมาทำงานในไซต์งานก่อสร้างต่างๆ ของไทย โดยมีมหาวิทยาลัยบางแห่งเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ว่า ขณะนี้ ได้สั่งการให้กระทรวง อว. มีหนังสือถึงวิทยาลัยสงฆ์ลำพูน มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) และมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีทุนจีนถือหุ้นทั้ง 3 แห่ง ให้รายงานข้อมูลนักศึกษาจีนที่มาเรียน ทั้งจำนวนสาขาที่เรียน เวลาที่ใช้เรียนจนจบการศึกษา และวีซ่านักเรียนที่ได้รับ

โดยขอให้ส่งรายละเอียดทั้งหมดมายังกระทรวง อว. ภายใน 1 สัปดาห์ นอกจากนี้สิ่งที่กระทรวง อว. กำลังจะดำเนินการควบคู่กัน  คือ การทำงานร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ซึ่งได้มอบหมายให้ น.ส.สุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. เป็นผู้แทนร่วมหารือกับ สตม. ในวันที่ 23 เมษายน นี้ ที่กระทรวง อว. เพื่อกำหนดแนวทางการตรวจสอบและติดตามนักศึกษาต่างชาติที่เดินทางเข้ามาศึกษาในประเทศไทยอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่มีข้อสงสัยว่านักเรียนต่างชาติใช้วีซ่านักเรียนเป็นช่องทางในการเข้ามาทำงานผิดกฎหมายจากกรณี

ย้ำมหาวิทยาลัยใดทำผิดดำเนินการตามกฎหมาย

น.ส.ศุภมาส กล่าวต่อว่า การหารือร่วมกับ สตม. ในครั้งนี้ จะเป็นการบูรณาการข้อมูลระหว่างกระทรวง อว. กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้สามารถตรวจสอบสถานะและพฤติกรรมของนักศึกษาต่างชาติได้อย่างเป็นระบบ และหากพบว่าสถานศึกษาใดมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยให้เกิดการใช้สถานะนักศึกษาในทางที่ไม่ถูกต้อง ก็จะดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด

“กระทรวง อว. ยืนยันว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีที่เกิดขึ้น และจะเร่งดำเนินการให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของระบบการอุดมศึกษาไทย และไม่ให้ประเทศไทยถูกใช้เป็นช่องทางในการลักลอบเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย” รมว.อว. กล่าว

 

ทั้งนี้ กระทรวง อว. จะเร่งจัดทำฐานข้อมูลกลางของนักศึกษาต่างชาติในประเทศไทย เพื่อใช้ประกอบการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเตรียมทบทวนนโยบายและมาตรการในการรับนักศึกษาต่างชาติให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นในอนาคต

เล็งจัดส่งข้อมูลอนุมัติวีซ่า นศ.ต่างชาติแบบเรียลไทม์

วันนี้ 23 เม.ย.2568 เวลา 14.00 น.ที่ห้องประชุม 3B อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  น.ส.สุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว. ให้เป็นผู้แทนร่วมประชุมหารือกับ พ.ต.อ.ยศเอก รักษาสุวรรณ รองผู้บังคับการอำนวยการ รักษาการแทนผู้บังคับการอำนวยการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อกำหนดแนวทางการตรวจสอบและติดตามนักศึกษาต่างชาติที่เดินทางเข้ามาศึกษาในประเทศไทย โดยมี น.ส.วราภรณ์ รุ่งตระการ รองปลัดกระทรวง อว. พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 พ.ต.อ.ระพีพัฒน์ อุตสาหะ รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 พ.ต.อ.อนุชิต ลายลักษ์ ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 3 กองบังคับการอำนวยการ พ.ต.อ.สุรชัย เอี่ยมผึ้ง ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวง อว. เข้าร่วม

 พ.ต.อ.คธาธร กล่าวว่า ปัจจุบัน สตม. พิจารณาให้วีซ่าแก่นักศึกษาต่างชาติภายใต้ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ซึ่งอนุญาตให้พำนักในราชอาณาจักรได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และรวมแล้วไม่เกิน 1 ปี โดยอ้างอิงจากกรอบของหลักสูตรที่ศึกษา พบว่า หลักสูตรแบบ Non-Degree หรือหลักสูตรระยะสั้นที่รับนักศึกษาต่างชาติมาเรียน ซึ่งบริหารจัดการได้เองโดยมหาวิทยาลัย ยังไม่มีระบบกลางในการกลั่นกรองหรือกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งทำให้เกิดความไม่ชัดเจน เช่น ระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการเรียน รูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นออนไลน์หรือออนไซต์ ซึ่งมีผลต่อการพิจารณาว่า นักศึกษาควรอยู่ในประเทศกี่วัน จึงเสนอให้กระทรวง อว. เข้ามาช่วยกำหนดกรอบแนวทางในประเด็นนี้ ซึ่งจะช่วยให้ สตม.สามารถอนุมัติจำนวนวันที่ให้พำนักในประเทศสอดคล้องตามความจำเป็นได้

ด้าน น.ส.สุชาดา กล่าวว่า น.ส.ศุภมาส ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวง อว. บูรณาการการทำงานร่วมกับ สตม. และจากการหารือทำให้เราได้ทราบถึงปัญหาและข้อกังวลของ สตม. ซึ่งที่ผ่านมา การดำเนินหลักสูตร Non-Degree ถือเป็นภารกิจด้านบริการวิชาการที่มหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการได้เองโดยไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากกระทรวง อว. อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสามารถตอบสนองต่อข้อกังวลของ สตม.ที่ประชุมจึงได้มีข้อเสนอร่วมกันว่าต่อไปนี้มหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตร Non-Degree ที่รับนักศึกษาต่างชาติมาเรียนจะต้องจัดส่งกรอบหลักสูตรมาให้กระทรวง อว. รับทราบ เพื่อช่วยพิจารณาและกลั่นกรอง ในด้านมาตรฐาน ระยะเวลา และรูปแบบการเรียนการสอน ก่อนที่กระทรวง อว. จะเป็นผู้ส่งต่อข้อมูลให้กับ สตม. อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะช่วยให้ สตม. สามารถพิจารณาวันที่พำนักของนักศึกษาได้ตรงกับความจำเป็นและเหมาะสมกับหลักสูตรจริง

“เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน กระทรวง อว. ยังเสนอให้ สตม. จัดส่งข้อมูลสถิติการอนุมัติวีซ่านักศึกษาต่างชาติแบบเรียลไทม์ เพื่อใช้วิเคราะห์และติดตามใช้วิเคราะห์ติดตามและตรวจสอบสถานะวีซ่าเพื่อป้องกันการลักลอบทำงานผิดกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับในหลักการจาก สตม. นอกจากนี้ ทั้งสองหน่วยงานยังเห็นพ้องกันว่าจะจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อวางระบบการประสานงานระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้” น.ส.สุชาดา กล่าว

ยอมรับมีจริง ใช้วีซ่าเรียน ทำงานในไทย

ด้าน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่ชาวต่างชาติเข้ามาเรียนในไทย โดยใช้วีซ่านักศึกษา แต่สวมสิทธิเข้ามาทำงานหรือประกอบอาชีพจริงจัง ถือว่าผิดกฎหมาย ยกเว้นกรณีฝึกงาน เพื่อประกอบหลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่เข้ามา ก็ไม่มีปัญหา ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีกรณีแอบแฝงแบบนี้อยู่  ทางกรมการจัดหางานได้มีการจัดทีมงานเพื่อตรวจสอบ รวมถึงรับฟังข้อมูลเบาะแสจากประชาชนว่าตรงไหนบ้างที่มีลักษณะแบบนี้ ทางเราก็จะส่งทีมงานเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับแรงงานที่ลักลอบทำงานทุกราย

ทั้งนี้ กรณีมาเรียนแล้วแอบแฝงไปทำงานถือว่าผิดกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เนื่องจากวีซ่านักเรียนใช้เพื่อการเรียนหนังสือและฝึกงานประกอบการเรียนเท่านั้น หากเข้ามาทำงานเป็นกิจจะลักษณะเพื่อเลี้ยงชีพ หรือทำสิ่งใดที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนหรือไปทำงานนั้นผิดกฎหมายแน่นอน

อย่างไรก็ตาม กรณีนักศึกษาต่างชาติแอบเข้ามาทำงานในไทยจะแตกต่างจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามา โดยแรงงานที่ลักลอบเข้ามาคือ กลุ่มที่ไม่มีวีซ่าเข้าประเทศ ลักลอบเข้าเมืองและลักลอบเข้ามาทำงาน จะมีความผิดอยู่ 2 ส่วน คือ ผิดต่อกฎหมายคนเข้าเมืองและผิดต่อกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว แต่ส่วนของนักเรียนต่างชาติที่เข้ามา เขามีวีซ่าเข้าประเทศถูกต้อง จึงไม่ได้กระทำผิดในส่วนกฎหมายคนเข้าเมือง เพียงแต่ว่าจะผิดกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองมาเพื่อทำงานในประเทศไทย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
21 เม.ย. 2568
“กีฬา ... กีฬา ... เป็นยาวิเศษ” ส่วนหนึ่งของคำประพันธ์ที่นำมาร้องกันในสมัยก่อน หรืออาจจะร่วมถึงในยุคสมัยนี้ด้วยก็คงไม่ผิด และแน่นอนความหมายของนั้นก็คือ การเล่นกีฬา การออกกำลังกายนั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรคภัยของเรานั่นเอ...