นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวภายหลังการประชุมพรรคว่า ภารกิจของพรรคพลังธรรมใหม่ ตอนนี้ถือว่าได้ฝ่าด่านแรกของการตั้งพรรคการเมืองไปได้แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้พรรคพลังธรรมใหม่จะมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม นำพรรคเหมือนเดิม แต่สมาชิกพรรคทุกคนได้ร่วมกันนำพรรคพลังธรรมใหม่ฝ่าด่านมาได้ แต่ก็ยังเหลืออีกหลายด่านที่จะต้องฝ่าฟัน ทั้งการหาสมาชิกพรรคประจำจังหวัด อย่างน้อย 100 คน เพื่อให้สามารถส่งผู้สมัครเลือกตั้งครบทุกเขตได้ โดยเราตั้งเป้าจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ครบ 350 เขต รวมทั้งหาสมาชิกพรรคแต่ละหมูบ้านให้ได้สมาชิกพรรคอย่างน้อย 1 หมู่บ้านต่อ 1 คน นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายจะได้คะแนนเสียง 1 เลือกตั้งต่อ 10,000 คะแนน ซึ่งจะทำให้ได้คะแนเสียงรวม 3.5 ล้านเสียง จะทำให้พรรคพลังธรรมได้ ส.ส.ยกแรกเกือบ 50 คน โดยพรรคหวังที่จะยุติความขัดแย้งทั้งเหลืองและแดง เพื่อรวมประเทศไทยให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียว ทั้งนี้พรรคพลังธรรมใหม่จะให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆทุกเรื่อง โดยหากภายหลังการเลือกตั้งแล้วพรรคจะเข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แล้วจะต้องเลือกนายกฯจากพรรคอื่น ทางพรรคจะมีการทำประชามติจากสมาชิกพรรคว่าสมควรเลือกใครเป็นนายกฯ หรือหากไม่สามารถเลือกนายกฯคนในได้ ทางพรรคก็จะต้องทำประชามติถามสมาชิกพรรคเพื่อให้เลือกนายกฯคนนอกที่ดีที่สุด
นพ.ระวี กล่าวอีกว่า พรรคจะสืบทอดอุดมการณ์ของพรรคพลังธรรมเป็นหลัก โดยนโยบายสำคัญที่พรรคพลังธรรมใหม่ต้องทำอย่างแรกคือการหยุดการทุจริต เช่นรื้อคดีที่ค้างอยู่ในการทำงานของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายใน 1 ปี และคดีใหม่จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ขณะเดียวกันต้องแก้ระเบียบศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาคดีทุจริตแทน เพื่อให้ครอบคลุมทั้งนักการเมือง และข้าราชการ นอกจากนั้นยังมีนโยบายปฏิรูปพลังงาน โดยแก้ไขสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมทุกฉบับที่ไม่เป็นธรรมต่อประเทศไทย และจะเข้าไปปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย โดยใช้นโยบายหมอประจำตัวทั่วไทย ต่อยอดนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ปฏิรูปการศึกษาให้มีแนวทางชัดเจน นอกจากนั้นต้องแก้ไขปัญหาความยกจนของเกษตรกร เพิ่มรายได้ลดรายจ่าย ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง และจะต้องตั้งคณะทำงานติดตามการแก้ปัญหาของผลผลิตทางการเกษตรแต่ละชนิด ไม่ใช้คณะทำงานรวมเด็ดขาด รวมทั้งมีนโยบายจัดสรรที่ดินเพื่อคนไร้ที่ดินทำกิน อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายแต่ละด้านขึ้นมา โดยจะให้ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายแต่ละด้านเข้ามาร่วมร่างนโยบายด้านนั้นๆด้วย อย่างไรก็ตามคาดว่าภายในอาทิตย์หน้าจึงจะสามารถยื่นจดจัดตั้งพรรคอย่างเป็นทางการต่อ กกต.ได้
นพ.ระวี ยังให้สัมภาษณ์ถึงกระแสพลังดูดทางการเมือง ว่า พรรคพลังธรรมไม่ห่วงในเรื่องนี้ เพราะพรรคเราก็จะดูดเหมือนกัน แต่เป็นการดูดคนดีจากทั่วประเทศเข้าร่วมกับพรรคเรา แต่ตนคิดว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นน้ำทางการเมือง ซึ่งการที่ คสช.บอกว่าเข้ามาเพื่อปฏิรูปการเมือง จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงนั้น แต่การที่นายกฯดูดนักการเมืองในตอนต้นอาจทำให้ถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย แต่หากดูดมาแล้วสามารถปฏิรูปการเมือง ทำให้บ้านเมืองไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ก็จะเป็นพระเอกในตอนท้าย แต่หากดูดมาแล้วไม่สามารถคุมได้ เกิดการทุจริต นายกฯก็จะเป็นผู้ร้ายตั้งแต่ต้นจนจบ
“หมอระวี” นั่งหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ตามคาด อดีตรองปลัด สธ.เป็นแม่บ้านพรรค “นาม ยิ้มแย้ม”รั้งตำแหน่งประธานคกก.ธรรมาภิบาลพรรค
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. เวลา 08.30 น. ที่มหาวิทยาลัยรังสิต สมาชิกพรรคพลังธรรมใหม่จัดการประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดแรก รวมทั้งร่างข้อบังคับพรรค นโยบายพรรค และอุดมการณ์การทางการเมืองของพรรค โดยมีผู้ลงทะเบียนร่วมประชุมจัดตั้งพรรค 642 คน ทั้งนี้ในที่ประชุมมีการลงมติเลือก นพ.ระวี มาศฉมาดล เป็นหัวหน้าพรรค, นพ.นิทัศน์ รายยวา อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเลขาธิการพรรค, นายอำนวย อินทสร อดีตแกนนำกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) เป็นเหรัญญิกพรรค และนายสามนต์ สังข์ทอง เป็นนายทะเบียนพรรค ขณะเดียวกันที่ประชุมยังให้การรับรองรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรครวม 32 คน อาทิ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต, นายวิชิต แย้มบุญเรือง อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย, นายคมกฤช รัตนเสถียร, นพ.พรณรงค์ พัฒนาบุญไพบูลย์ อดีตคณะกรรมการบริหารพรรคพลังธรรม, นายทศพล แก้วทิมา แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), นายวีรพจน์ ลือประสิทธิ์สกุล อดีตผู้สมัครส.ส.สัดส่วน พรรคพลังธรรม และนายชัชวาลย์ ชมภูแดง อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาพรรค เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีการลงมติเลือกคณะกรรมการธรรมาภิบาลของพรรคจำนวน 5 คน ที่จะทำหน้าที่ป้องกันและตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองของพรรค หัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคทั่วประเทศ รวมทั้งแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในพรรคด้วย โดยมีนายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) เป็นประธานคณะกรรมการฯ