ปักกิ่ง, 28 เมษายน 2568 — เวลา 14.00 น. ณ กรุงปักกิ่ง ศ.ดร.หยาง เยว่ ( Yang Yue) รองผู้อำนวยการและนักวิจัย ประจำสถาบันเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยกิจการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน บรรยายพิเศษในหัวข้อ "การสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น" ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนไทย ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และศูนย์การศึกษาและฝึกอบรม สำนักสารนิเทศต่างประเทศแห่งประเทศจีน (CICG) โดยมี ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ประธานหลักสูตรผู้บริหารธุรกิจไทย-จีน และที่ปรึกษาหลักสูตรผู้บริหารรุ่นใหม่ธุรกิจไทย-จีน เป็นหัวหน้าคณะนำผู้เข้าอบรมร่วมฟังการบรรยายอย่างพร้อมเพรียง
ในการบรรยาย ศ.ดร. Yang Yue กล่าวถึงความสัมพันธ์จีน-อาเซียนที่มีรากฐานยาวนาน ก่อนจะเร่งตัวอย่างก้าวกระโดดในปี 2010 จากการเปิดเขตการค้าเสรี ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในบริบทของไทย ซึ่งการค้าไทย-จีนสะท้อนแนวโน้มเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2023-2024 ตัวเลขการค้าเริ่มชะลอตัวจากหลายปัจจัย เช่น การแข็งค่าของเงินหยวนที่กระทบมูลค่าการผลิต และแนวโน้มการลงทุนของจีนที่หันไปตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์
ศ.ดร.Yang Yue เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างประชาคมจีน-อาเซียน เพื่อรับมือกับความท้าทายเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค โดยชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์มักมีจุดเริ่มต้นจากการกีดกันทางการค้าและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ พร้อมเตือนว่าความไม่แน่นอนจากนโยบายของสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายการค้าในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยิ่งทำให้จีนและอาเซียนจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังมองว่าสถานการณ์ความไม่แน่นอนดังกล่าว เป็นโอกาสสำหรับจีน อาเซียน และประเทศในเอเชียในการสร้างกลไกความร่วมมือที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยสอดคล้องกับนโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่เน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน (SDGs) และการลงทุนในสาขาใหม่ เช่น สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และโทรคมนาคม ซึ่งจะเป็นเสาหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคในอนาคต
ช่วงท้ายการบรรยายมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีการอภิปรายในหลายประเด็นสำคัญ อาทิ นโยบายฟรีวีซ่าระหว่างไทย-จีน ซึ่งได้รับมุมมองทั้งในด้านบวกและข้อกังวล เช่น ปัญหาอาชญากรรมจากคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ โดยผู้บรรยายย้ำว่าแม้จะมีผลกระทบบางประการ แต่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งและความร่วมมือระหว่างประชาชนสองประเทศจะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์และส่งเสริมการเติบโตของการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในระยะยาว
///////