ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
“บิ๊กแจ๊สอ่วม”กลุ่มต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น จี้ สตง. และ ปปช. เอาผิดหลายโครงการมูลค่ากว่า 300ล้านบาท สงสัยเอื้อทุจริต
30 เม.ย. 2568

   เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 29 เมษายน 2568 ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดปทุมธานี (สตง.จ.ปทุมธานี) ต.บางปรอก อ.เมือง จ.ปทุมธานี นายสุปรีย์ แสงสว่าง ตัวแทน กลุ่มต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น เดินทางมาติดตามความคืบหน้าการร้องเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เกี่ยวกับใน 13 โครงการใหญ่มูลค่ากว่า 300ล้านบาท ที่สงสัยว่าเป็นการเอื้อทุจริตการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ที่มีพฤติการณ์ควรเชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีการทุจริต อาจใช้งบประมาณไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไข พร้อมกันนี้ก็ได้เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำจังหวัดปทุมธานี (ปปช.จ.ปทุมธานี) เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องการร้องเรียนในโครงการที่สงสัยเอื้อทุจริตการใช้จ่ายเงินงบประมาณโดยมีนายยุทธพัฒน์ เศรษฐวชิรา พนักงานไต่สวนระดับกลางออกมารับเรื่อง


   นายสุปรีย์ แสงสว่าง ตัวแทน กลุ่มต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น เปิดเผยว่า ทางกลุ่มต่อต้านฯ ได้ดำเนินการเข้าไปตรวจสอบโครงการหลายโครงการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.ปทุมธานี) ภายใต้การบริหารของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี หลังจากได้รับร้องเรียนจากประชาชนในจังหวัดปทุมธานี ที่ต้องการให้กลุ่มต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น เข้าไปตรวจสอบ โดยทางกลุ่มต่อต้านฯ ได้ยื่นหนังสือต่อ สตง.จ.ปทุมธานี และ ปปช.จ.ปทุมธานีไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยวันนี้ (29 เม.ย.) จึงได้เข้าไปที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินประจำจังหวัดปทุมธานี เพื่อติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการของ อบจ.ปทุมธานี กว่า 13 โครงการ มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ว่าได้ดำเนินการถึงขั้นไหนแล้ว ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า เนื่องด้วยผู้บริหารของ อบจ.ปทุมธานี อยู่ในตำแหน่งระดับสูงเกินกว่าอำนาจของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินประจำจังหวัดปทุมธานี จึงส่งเรื่องไปที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ภาค1 จังหวัดนครปฐม เพื่อทำการตรวจสอบต่อไป

หลังจากนั้นกลุ่มต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นที่นำโดยนายสุปรีย์ แสงสว่าง พ.ต.ท.ดร.ณรงค์ ศรีสุวรรณ (อดีต รอง ผบก น้ำหนาว จ.จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น) ดร.ธนภัทร พุฒซ้อน ที่ปรึกษากลุ่มต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น จึงได้ร่วมกันแถลงข่าว ถึงโครงการของ อบจ.ปทุมธานี ที่มีพฤติการณ์ควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น คือ
1.โครงการจัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธ์ 200,000โดส มูลค่ากว่า 56 ล้านบาท โดยเงินจำนวนดังกล่าวเป็นงบกลางงบฉุกเฉิน เป็นเงินสำรองจ่าย เพื่อไว้ใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน ที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น หรือกรณีการป้องกันยับยั้งก่อนเกิดสาธารณภัย แต่การจัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ของ อบจ.ปทุมธานี ไม่ถือเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้นและไม่ได้มีลักษณะเป็นการบรรเทาทุกข์จากภัยธรรมชาติ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุขมีการดำเนินการฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงเป็นปกติมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเร่งด่วนและจังหวัดปทุมธานีในปี 2567 ก็เป็นจังหวัดที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ในลำดับที่ 29 ของประเทศซึ่งในจังหวัดที่มีคนติดเชื้อไข้หวัดลำดับที่ 1 ถึง 28 ก็ไม่มีจังหวัดใดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดดำเนินการจัดซื้อวัคซีนอย่างเช่นองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไว้ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงจำนวน 4,500,000 โดส จึงถือว่าพอเพียงกับความต้องการของประชาชน และไม่ใช่ภารกิจหน้าที่โดยตรงขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ที่จะต้องดำเนินการจัดซื้อวัคซีนและวิธีคัดเลือกในการจัดซื้อวัคซีนก็เป็นวิธีเจาะจงเลือกบริษัท เค ที เอฟ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับผู้บริหารท้องถิ่นและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เป็นบริษัทที่ไม่ได้มีความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องวัคซีน แต่กลับได้รับพิจารณาจัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี จึงน่าจะเป็นการทุจริตร่วมกันในการจัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ซึ่งเมื่อตรวจสอบคุณสมบัติบริษัทคู่เทียบทั้ง 2 บริษัทแล้วพบว่ามีวัตถุประสงค์ขายปลีกสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์แต่ไม่สามารถเข้ารับการคัดเลือกได้ เนื่องจากมีทุนจดทะเบียนไม่ถึง 15 ล้านบาท
   ดังนั้นตนและกลุ่มต่อต้านฯ จึงตั้งข้อสงสัยว่า ผู้บริหารบริษัท เค ที เอฟ กรุ๊ป จำกัด มีความเกี่ยวพันกันอย่างไรกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เพราะที่ผ่านมามีภาพไปร่วมงานกันหลายงานที่ อบจปทุมธานี จัดขึ้น รวมถึงมีการเดินทางไปต่างประเทศร่วมกันพบปะกันเป็นประจำเมื่อมีงานก็จะปรากฏตัวพร้อมถ่ายภาพร่วมกันเสมอ ตลอดจนงานกิจกรรมของ อบจ.ปทุมธานี ก็ไปร่วมทุกครั้งปรากฏตามภาพถ่ายที่ส่งไปให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ตรวจสอบ
2.โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล ที่เบิกเงินค่าศึกษาโครงการไปแล้ว 120 ล้านบาท ซึ่งการนำเงินไปศึกษาโครงการดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน
3.โครงการจัดเลี้ยงอาหารกลางวัน แก่ข้าราชการ พนักงานลูกจ้าง ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นับตั้งแต่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ 2564 ได้สั่งการให้เริ่มมีโครงการจัดเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ข้าราชการพนักงานลูกจ้าง รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่มาติดต่องาน รวมระยะเวลา 3 ปีกว่า โดยมีผู้รับจ้างทำอาหาร 2 รายเปลี่ยนการทำอาหารคนละ 1 อาทิตย์ มีค่าใช้จ่ายทำอาหารวันละไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อวัน 1 เดือนเท่ากับ 330,000 บาท ถ้านับ 1 ปีเท่ากับ 3,960,000 บาท รวม 3 ปีเท่ากับ 11,880,000 บาทโดยมีหลักฐานการโอนเงินจ่ายค่าทำอาหารแต่ละอาทิตย์บางส่วนโดยใช้ชื่อแจ้งการโอนเงินว่านางธัญญาภรณ์ ไม่ทราบนามสกุลและผู้แจ้งข้อมูลการส่งเงินใช้ชื่อทางไลน์ว่า Bye Bye ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยหมายถึง ลูกสาว พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ในขณะนั้น จึงอยากให้สำนักงานป.ป.ช.ตรวจสอบการกระทำดังกล่าวว่าอาจผิดต่อกฎหมายและระเบียบต่างๆหรือไม่อย่างไร
4.โครงการจัดซื้อแผ่นโฟมช่วยน้ำท่วม 2565 งบประมาณ 4,660,000 บาท จำนวน 2,000 แผ่นราคาซื้อแผ่นละ 2,330 บาท แต่เอกชนทั่วไปซื้อในราคาแผ่นล่ะ 1,682 บาท มีความต่างกันถึง 648 บาทต่อแผ่น รวมแล้วมีส่วนต่างกว่า 1,296,000 ล้านบาทและยังพ่นชื่อติดที่โฟมคำว่า"พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี"
5.โครงการสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ในช่วงโควิด 19 เมื่อปี พ.ศ. 2564 งบประมาณ 15 ล้านบาท แต่ก็ไม่ได้เรียนจริงแม้แต่ชั่วโมงเดียว มีใครเกี่ยวข้องบ้าง
6.โครงการจัดซื้อพัดลมสำหรับโรงพยาบาลสนามในช่วงโควิด 19 โดยตั้งข้อสังเกตการจัดซื้อพัดลมขนาด 18 นิ้วมีจริงหรือไม่ คณะกรรมการตรวจสอบรับของคือใคร มีรูปภาพการตรวจรับหรือไม่ นำพัดลมที่ได้รับจากการบริจาคโดยบริษัทฮาตาริ บริจาคพัดลมจำนวน 500 ตัวไปเข้าโครงการจัดซื้อพัดลมสำหรับโรงพยาบาลสนามในช่วงโควิด 19 หรือไม่ พร้อมกันนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่ส่อทุจริต จึงอยากให้ สตง.และ ปปช.เร่งทำการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน

   การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ.ปทุมธานี สะท้อนให้เห็นเกี่ยวกับความหลากหลายกลโกงในการจัดซื้อฯ มีทั้งให้บริษัทพรรคพวก หรือคนในครอบครัวมารับงาน มีการทำเอกสารเท็จ ปกปิดข้อมูล ไม่เปิดประมูลทั่วไป แต่เน้นใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ฮั้วประมูล อบจ.เองบริหารสัญญาจนรัฐเสียเปรียบ ฯลฯ “สำคัญที่สุดคือ ประชาชนต้องร่วมปกป้องผลประโยชน์ของท้องถิ่น สอดส่องสิ่งผิดปกติและอย่าเลือกคนซื้อเสียงให้เขากลับมาถอนทุนคืน”

สมเกียรติ ทรัพย์เฉลิม หน.ข่าวภูมิภาค
081-6235473

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
21 เม.ย. 2568
“กีฬา ... กีฬา ... เป็นยาวิเศษ” ส่วนหนึ่งของคำประพันธ์ที่นำมาร้องกันในสมัยก่อน หรืออาจจะร่วมถึงในยุคสมัยนี้ด้วยก็คงไม่ผิด และแน่นอนความหมายของนั้นก็คือ การเล่นกีฬา การออกกำลังกายนั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรคภัยของเรานั่นเอ...