เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมนำข้อเสนอแนะไปแก้ไข
วันนี้ 30 เม.ย.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารเอนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลหลุมรัง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี กรมชลประทาน ร่วม 5 บริษัทกิจการร่วมค้า PFWFT JV ประกอบด้วย บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ฟลัดเวย์ จำกัด บริษัท วิศวชาญ 2002 จำกัด บริษัท ฟรอนเทียร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ส จำกัด และบริษัท ธูว์ บราเดอร์ พาทเนอร์ จำกัด เปิดเวทีประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี เวทีที่ 6 เพื่อนำเสนอข้อมูลและรายละเอียดการออกแบบให้กับผู้ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ ต่อการดำเนินงานโครงการ
โดยมีนายอรรถพล พรหมศิริ วิศวกรโยธาชลประทาน นายชลเมธ มงคลศิลป์ วิศวกรโครงการงานจ้าง สำรวจ ออกแบบโครงการ ผู้แทนกิจการร่วมค้า PFWFT JV ร่วมนำเสนอข้อมูลโครงการ วัตถุประสงค์ลักษณะและรายละเอียดโครงการ แนวคิดการออกแบบ เกณฑ์ในการออกแบบ และรูปแบบการพัฒนาโครงการ พร้อมตอบข้อซักถามของประชาชน มีนายอิทธิพัทร์ รัตนสุวรรณาชัย นายก อบต.หลุมรัง นายสมจิตร พวงชีวงษ์ นายก อบต.ช่องด่าน และชาวบ้านจำนวนหนึ่งเข้าร่วม
ในการนี้นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.กาญจนบุรี เขต 4 พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สภาผู้แทนราษฎร ได้ถือโอกาสเดินทางเข้าร่วมรับฟังพร้อมซักถามและเสนอแนะแนวทางให้กับผู้แทนกิจการร่วมค้า PFWFT JV ออกแบบโครงการอุโมงค์ผันน้ำฯให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะต้องอยู่ไปชั่วลูกชั่วหลานตลอดไป
ซึ่งหากการออกแบบใช้ไม่ได้และไม่มีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ที่ออกมาจะตกอยู่กับประชาชน เพราะการออกแบบคลองส่งน้ำไม่ใช่การสร้างถนน สิ่งแรกที่ผู้แทนกิจการร่วมค้า PFWFT JV ต้องคำนึงถึงคือความสูงต่ำจากระดับน้ำทะเลปานกลางของลำคลอง เพราะลำคลองจะต้องใช้ระบบกราวิตี้ เพื่อให้น้ำไหล และต้องรักษาแรงดันตั้งแต่ปากอุโมงค์ กลางอุโมงค์ ปลายอุโมงค์ไปถึงอ่างเก็บน้ำลำอีซูและบ่อพักน้ำหลุมรัง ถ้าปล่อยให้การออกแบบโดยขาดข้อมูลทางวิชาการและองค์ความรู้ด้านภูมิประเทศ เมื่อมีการก่อสร้างไปแล้วจะทำให้รัฐสูญเสียเงินภาษีของประชาชนโดยเปล่าประโยชน์
อีกทั้งการสูญเสียงบประมาณจะเริ่มตั้งแต่การศึกษาการออกแบบ จึงเกรงว่าโครงการนี้จะล้มเหลว ประชาชนเห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการ แต่ขอเสนอแนะให้ผู้แทนกิจการร่วมค้า PFWFT JV ให้ออกแบบอย่างมีประสิทธาพโดยไม่ต้องไปเอาใจหน่วยงานราชการ โดยการประชุมในครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ
ทั้งนี้นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.กาญจนบุรี เขต 4 พรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังว่า การประชุมในวันนี้ผมได้แนะนำไปยังผู้แทนกิจการร่วมค้า PFWFT JV ที่มาเปิดเวทีประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี เวทีที่ 6 มีอยู่ 3 ประเด็นหลัก
ซึ่งได้คุยกับทางบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ 1 เรื่องเฮดความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางโดยเฉพาะบริเวณที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำลำอีซู และอ่างเก็บน้ำหลุมรัง เฮดจะต้องได้สองปริมาณตามแรงโน้มถ่วงของโลก ประเด็นที่สองคือแนะนำให้กันพื้นที่สีเขียวเอาไว้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ในการพักผ่อนหรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนในพื้นที่ได้
สำหรับคลองส่งน้ำจะต้องรักษาเฮดการไหลของน้ำให้มีประสิทธิภาพ ส่วนจุดจ่ายน้ำที่ยังไม่ได้ออกแบบ ทางชลประทานจะต้องสามารถนำจุดจ่ายน้ำมาเชื่อมต่อมเพื่อกระจายน้ำไปพื้นที่อื่นได้ด้วยเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์กับโครงการนี้ให้มากที่สุด
ด้าน นายอรรถพล พรหมศิริ วิศวกรโยธาชลประทาน กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทที่ปรึกษาที่ทำการออกแบบบ่อหลุมรัง จากการที่ท่าน สส.ได้ออกมาพูดสรุปได้ใน 3 ประเด็น ประเด็นที่ 1 คือเกี่ยวกับเรื่องปริมาณน้ำที่จะนำมาเก็บกัก การออกแบบเราได้ปรึกษากันกับท่านนายก อบต.หลุมรัง เกี่ยวกับเรื่องของพื้นที่ที่เราสามารถออกแบบได้โดยที่ไม่น้อยกว่าปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ตามผลการศึกษา
ซึ่งผลการศึกษาปริมาณกักเก็บได้อยู่ที่ประมาณ 3.7 ล้านลูกบาศก์เมตร เราได้พยายามออกแบบให้สามารถกักเก็บน้ำได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งขณะนี้สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 4.8 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งมากกว่าเดินประมาณ 1 ล้านคิว
ส่วนเรื่องระดับเฮดที่ทางท่าน สส.ศักดิ์ดา ออกมาพูดเพื่อให้คำแนะนำนั้น ขณะนี้เราได้ย้ายจากบ่อเดิมที่มีเฮดอยู่ที่ระดับที่ต่ำประมาณ 10 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เราได้นำขึ้นมาอยู่บนเนินเขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ประเด็นที่ 2 คือเรื่องของพื้นที่สีเขียว ประเด็นนี้เราได้ออกแบบไปแล้วก็คือพื้นที่ที่เราประสานกับท่านนายก อบต.หลุมรัง โดยเราใช้พื้นที่ประมาณ 700 กว่าไร่ ในส่วนพื้นที่บ่อผิวน้ำเราใช้พื้นที่จริงประมาณ 500 กว่าไร่ เพราะฉะนั้นยังคงเหลือพื้นที่อยู่กว่า 100 ไร่ที่เราจะนำมาทำเป็นสวนป่าให้เป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งเราจะพยายามออกแบบการใช้งานด้วยการให้มีลานกางเต้นท์ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป
และประเด็นที่ 3 คือการออกแบบบ่อพักน้ำหลุมรัง ที่มีการนำผ้ายางมาปูรองพื้น ซึ่งจากเดิมผลการศึกษามีมาอยู่แล้วและเป็นขอบเขตที่เราจะต้องออกแบบ แต่ในเมื่อที่ประชุมมีข้อเสนอแนะให้ออกแบบโดยไม่ต้องใช้ผ้ายางมารองพื้นเพื่อให้น้ำซึมลงไปกลายเป็นน้ำซับที่อยู่ใต้ดิน
ประเด็นนี้เราจะต้องไปศึกษาว่าเราจะบริหารจัดการน้ำที่กักเก็บเอาไว้ในบ่อได้อย่างไรเพื่อไม่ให้รั่วซึมจนกลายเป็นบ่อที่มีน้ำไม่เต็ม ซึ่งจะต้องไปหาวิธีอาจจะมีการบดอัดหรือการปูคอนกรีตหรืออาจจะปูพื้นรองน้ำด้วยดินเหนียว เพื่อลดปัญหาของการร่ำซึม
เพราะฉะนั้นงบประมาณที่จะนำมาดำเนินการนำผ้ายางมาปูรองพื้น หรือวิธีการอื่นๆจะต้องนำมาเปรียบเทียบกัน ด้วยการให้กรมชลประทานนำไปพิจารณา ซึ่งประเด็นนี้เราจะรับไปดำเนินการตามข้อเสนอแนะในที่ประชุมต่อไป
/////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์