“จากวิสัยทัศน์สู่การลงมือทำ” เบื้องหลังความสำเร็จคณะรัฐประศาสนศาสตร์ DPU ขึ้นอันดับ 1 มหาวิทยาลัยเอกชนที่ดีที่สุด
ผลสำรวจของ Thai Education Ranking (TER) ปี 2024 คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ก้าวขึ้นเป็น อันดับ 1 ด้านรัฐศาสตร์ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน
ความสำเร็จนี้ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง ณ ห้องประชุมของคณะ โดย “รองศาสตราจารย์ ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ” คณบดี ค่อยๆ วางมือจากเอกสาร ก่อนกล่าวถึงการจัดอันดับล่าสุดที่สะท้อนผลของการทำงานหนักตลอดหลายปี
"รู้สึกยินดี ขอบคุณสำหรับการจัดอันดับ และนับเป็นก้าวที่สำคัญ" เธอกล่าว "แต่ไม่ใช่ที่สุดของเรา เรายังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพัฒนา"
ลงสนามจริง ขับเคลื่อนภาพลักษณ์
ความก้าวหน้าครั้งสำคัญของคณะรัฐประศาสนศาสตร์เกิดจาก 2 เสาหลัก ที่แข็งแรงและเกื้อหนุนกัน ได้แก่ “การพัฒนาภาพลักษณ์” มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยเฉพาะ “การตลาด” และ “การสร้างชื่อเสียง” ผ่านผลงานของมหาวิทยาลัยและการสื่อสารในโซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เป็นที่รู้จักพร้อมทั้งเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ และน่าเชื่อถือ
ขณะเดียวกัน “คณะรัฐประศาสนศาสตร์” เองก็ไม่เพียงแต่พึ่งพาความแข็งแกร่งของมหาวิทยาลัย แต่ “ลงมือทำ” บนเส้นทางตามศาสตร์แห่งตนอย่างจริงจัง เพราะมองว่าคณาจารย์ไม่สามารถเก่งเพียงแค่ทฤษฎีในห้องเรียนได้ แต่จำเป็นต้องสัมผัสกับความเป็นจริง การบริหารภาครัฐที่แยกขาดจากความเป็นจริง ย่อมไม่ใช่ศาสตร์ของเรา จึงมุ่งส่งเสริมการสอนและการวิจัยที่ลุ่มลึก ใช้ได้จริง และแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมในโลกแห่งความเป็นจริง
โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ DPU มีเครือข่ายเชื่อมโยงถึง 76 จังหวัด ทั้งหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ผ่านโครงการหลากหลายที่ชัดเจน มีเป้าหมาย และมีผลลัพธ์เชิงประจักษ์ โดยเฉพาะการให้บริการวิชาการอย่างต่อเนื่องและหลากหลายรูปแบบ เช่น การวางยุทธศาสตร์ให้กับจังหวัด กลุ่มจังหวัด ถือว่าเป็นความเชี่ยวชาญและชื่อเสียงของคณะมานับสิบปี มีงานวิจัยขนาดใหญ่ ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยทุนวิจัยระดับชาติ โดยเฉพาะการวิจัยเกี่ยวกับเยาวชน ซึ่งมีการเก็บข้อมูล ทำกิจกรรมจากเยาวชนกว่า 10,000 คน ครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศ
"การลงพื้นที่ของคณาจารย์ช่วยให้อาจารย์มี 'เรื่องเล่า' และประสบการณ์เยอะมาก นอกจากเป็นผลดีในการพัฒนาอาจารย์แล้ว ยังสามารถสร้างเสริมความคมลึกในการถ่ายทอด ให้เด็กเห็นภาพชัดเจน ไม่เพียงแค่กล่าวอ้างทฤษฎีเท่านั้น .....ดังนั้นการพัฒนาอาจารย์คือพัฒนาลูกศิษย์ ซึ่งก็คือบัณฑิตของเรานั่นเอง ” รศ. ดร.วลัยพร กล่าว
ปฏิบัติ ปฏิรูปสู่อนาคต
หลักสูตรที่เน้นภาคปฏิบัติควบคู่กับอาจารย์ที่มีประสบการณ์จริง สร้างบัณฑิตที่ทำงานได้จริง และเมื่อพวกเขาเข้าสู่หน่วยงานต่างๆ ชื่อเสียงก็เดินทางกลับมาที่ต้นทาง เช่น ในกรณีของ “กรมราชทัณฑ์” รุ่นพี่ซึ่งทำงานในสายราชการได้แนะนำรุ่นน้องให้เข้ามาเรียนต่อ จนมีนักศึกษาปริญญาโทกว่า “ครึ่งหนึ่ง” มาจากเครือข่ายนี้ ขณะเดียวกันผู้ปกครองเองก็เริ่มรู้จักคณะรัฐประศาสนศาสตร์ DPU จากงานภาคสนาม และส่งต่อลูกหลานเข้ามาสานต่อเส้นทางนี้
ล่าสุด ที่สะท้อนถึงมาตรฐานของคณะรัฐประศาสนศาสตร์ DPU คือ บริษัทเซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป (CRG) ซึ่งเริ่มต้นจากการรับนักศึกษาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ไปฝึกงาน นำไปสู่บันทึกข้อตกลงทางวิชาการ (MOU) และพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ รวมถึงการทำกิจกรรมร่วมกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 3 ปี
"ขอคุยกับคณบดีหน่อยได้ไหม? ทำไมเด็ก DPU มีคาแรกเตอร์แบบนี้ " รศ. ดร.วลัยพร เล่าถึงเสียงจากฝั่งเซ็นทรัลฯ ที่เก็บงำความสงสัยและประทับใจไม่ได้อีกต่อไป หลังจากรับนักศึกษาฝึกงานกว่า 3 รุ่น และพบว่าทุกคนมีคุณลักษณะที่ "สู้" เป็นคนที่พร้อมแก้ไขความผิดพลาดทันที และ "ล้มแล้วลุกเร็ว" ไม่จมกับความผิดพลาด มีอุปนิสัยที่พร้อมเรียนรู้กับความผิดพลาดเสมอ...
คณบดีเล่าต่อว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นแนวคิดที่เราปลูกฝังมาตลอด" ผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้นักศึกษามีความอุตสาหะ ความพยายาม ผ่านการทำงานและแก้ไขซ้ำๆ “ดีแล้วนะ แต่ดีกว่านี้ได้อีก” จึงเป็นวลีที่เด็กได้ยินซ้ำๆ จนคุ้นชิน และเปลี่ยนให้เด็กไม่ถืออัตตา พร้อมทั้งรับฟังคำวิจารณ์ เพื่อปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ เป็น Growth Mindset ที่สำคัญ ดีต่อการพัฒนาตนเองทั้งการเรียนและการใช้ชีวิต
ข้าราชการดิจิทัล ทิศทางใหม่ระบบราชการไทย
โควิด-19 เปลี่ยนทุกองค์กรให้ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดผ่านดิจิทัล แต่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ DPU ไม่ได้แค่ปรับพอผ่านพ้นวิกฤต ทว่าใช้โอกาสนี้เพื่อวางรากฐานใหม่สำหรับสร้างบุคลากรภาครัฐที่พร้อมสำหรับยุคดิจิทัล ซึ่ง รศ. ดร.วลัยพร เรียกว่า “ข้าราชการดิจิทัล”
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ระบบราชการต้องปรับตัวให้บริการประชาชนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คณบดีจึงริเริ่มการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับหลักสูตร พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าจากทั้งภาครัฐ-เอกชน ร่วมถ่ายทอดความรู้โดยตรง เพื่อให้นักศึกษาจะมีมุมมองที่กว้างขึ้น เข้าใจระบบดิจิทัลภาครัฐ และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้จริง โดยระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ”สิ่งสำคัญ” ไม่เพียงแค่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ต้องฉลาดใช้เทคโนโลยีในการเลือก ตัดสินใจ และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมกับภาวะการณ์
เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ DPU มีโครงการ “พลเมืองดิจิทัล” ที่ดำเนินการร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการที่ช่วยให้นักศึกษาฝึกใช้แพลตฟอร์มภาครัฐ เช่น ระบบสำมะโนประชากรดิจิทัล เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การทำงาน และวิถีพลเมืองดิจิทัล เป็นต้น
เพื่อรองรับอนาคต ต่อมา AI ได้ถูกนำมาเป็นแกนหลักของหลักสูตร นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีนโยบายให้ส่งเสริมการใช้ AI กับการเรียนการสอน ซึ่งช่วยให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมีประสบการณ์ในเครื่องมือ AI ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาวิชาการด้านภาครัฐดิจิทัลของคณะ
"เราไม่อยากให้นักศึกษาจบออกไปแล้วต้องเริ่มตั้งต้นนับหนึ่ง แต่เรานับหนึ่ง นับสอง...ให้ตั้งแต่เรียนในมหาวิทยาลัย ที่นี่ DPU” รศ. ดร.วลัยพร อธิบายระบบการเตรียมลูกศิษย์ที่ได้ดำเนินการครอบคลุมทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยและคณะรัฐประศาสนศาสตร์สำหรับข้าราชการยุคใหม่
ก้าวต่อปริญญาเอก รับมือกับ Mega Trends
แม้วันนี้คณะรัฐประศาสนศาสตร์ DPU จะก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 แต่ “การพัฒนาไม่มีวันหยุดนิ่ง” ปีนี้ เตรียมเปิดหลักสูตรปริญญาเอกทางรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อเสริมศักยภาพ ผู้บริหาร ข้าราชการ และนักวิชาการ ให้พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ของโลกที่เปลี่ยนแปลงในหลายๆ มิติ อาทิ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง, สังคมสูงวัย นโยบายที่ตอบโจทย์โลกปัจจุบันและอนาคต, เศรษฐกิจสีเขียว, การเท่าทันในภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และความร่วมมือของภาครัฐ-ภาคเอกชน ในการร่วมพัฒนาสังคมด้วยกันในมิติต่างๆ ตลอดจนการสร้างเสริมการเท่าทันดิจิทัลภาครัฐสำหรับผู้บริหาร เป็นต้น
“เราไม่คิดว่าอันดับหนึ่งคือปลายทาง แต่มันคือแรงผลักดันให้เราก้าวต่อไป” รศ. ดร.วลัยพร ระบุ พร้อมทั้งย้ำทิ้งท้าย “เราคิดถึงอนาคตอยู่เสมอ และเราไม่ใช่แค่สร้างคนให้เหมาะกับปัจจุบัน แต่ต้องให้เขาพร้อมสำหรับอนาคตที่กำลังจะมาถึง”