นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศ ภายใน 90 วัน ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2551 เพื่อสนองนโยบายดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้มอบหมายให้ว่าที่ร้อยตรี สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิษณุโลก รับผิดชอบโครงการดังกล่าวและอนุมัติให้จัดซื้อเครื่องตรวจค้นยาเสพติด สำหรับนำไปใช้ในจุดตรวจพื้นที่อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอวังทอง และเส้นทางไปจังหวัดสุโขทัย ที่มีการขนย้ายยาเสพติดเข้ามามาก โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริการส่วนจังหวัดพิษณุโลก แต่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกอนุมัติงบประมาณเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2551 ทำให้สำนักงานจังหวัดพิษณุโลกต้องจัดซื้อเครื่องตรวจค้นยาเสพติดโดยวิธีพิเศษ ในวงเงิน 1,650,000 บาท
ในการจัดซื้อ ว่าที่ร้อยตรี สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ ได้นำเอกสารใบเสนอราคาของบริษัท เอ็ม – แลนดาร์ช จำกัด และบริษัท แอม เบส พลัส จำกัด ไปให้คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และสั่งการให้จัดซื้อเครื่องตรวจค้นยาเสพติด อัลฟา 6 กับบริษัท เอ็ม – แลนดาร์ช จำกัด ซึ่งปรากฏว่าเอกสารของบริษัท แอม เบส พลัส จำกัด เป็นเอกสารเสนอราคาปลอม เนื่องจากบริษัทดังกล่าวประกอบกิจการจำหน่ายเวชภัณฑ์การแพทย์ ไม่เคยจำหน่ายเครื่องตรวจค้นยาเสพติด แต่นำมาเป็นคู่เทียบให้เห็นว่าบริษัท เอ็ม – แลนดาร์ช จำกัด เสนอราคาถูกกว่า โดยคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษได้จัดทำรายงานว่ามีการสืบราคาจากบริษัทต่างๆ แล้ว เสนอความเห็นว่าบริษัท เอ็ม – แลนดาร์ช จำกัด เสนอราคาต่ำสุด ให้จัดซื้อกับบริษัทดังกล่าว โดยที่ไม่เคยสืบราคาและต่อรองราคาจากผู้ขายรายใดแต่อย่างใด ต่อมาว่าที่ร้อยตรี สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ ได้อนุมัติให้จัดซื้อเครื่องตรวจค้นยาเสพติด อัลฟา 6 จำนวน 1 เครื่อง พร้อมลงโปรแกรมในเครื่องให้สามารถตรวจสารเสพติดได้ 6 ชนิด คือ แอมเฟตามีน เฮโรอีน ยาอี กัญชา ฝิ่น และยาเค ในราคา 1,647,800 บาท จากกับบริษัท เอ็ม – แลนดาร์ช จำกัด และลงนามในสัญญาซื้อขายเครื่องดังกล่าว ทั้งที่อำนาจในการอนุมัติจัดซื้อโดยวิธีพิเศษและลงนามในสัญญาเป็นของ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และได้อนุมัติให้จ่ายเงินให้แก่บริษัท เอ็ม – แลนดาร์ช จำกัด ทั้งที่การจัดซื้อไม่ถูกต้อง
ในการตรวจรับพัสดุ มีกรรมการตรวจรับพัสดุ จำนวน 3 คน แต่ปรากฏว่ามีว่าที่ร้อยตรี สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ ตรวจรับเครื่องดังกล่าวเพียงคนเดียว ซึ่งได้ทดสอบเครื่องที่จัดซื้อนำไปค้นหายาบ้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนกรรมการอีก 2 คน ได้มาลงชื่อในภายหลัง โดยว่าที่ร้อยตรี สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ ได้สั่งการให้นายขวัญชัย คำชุ่ม กรรมการตรวจรับคนหนึ่งลงชื่อในใบตรวจรับพัสดุ ทั้งที่ไม่ได้เข้าร่วมตรวจรับด้วย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติชี้มูลความผิดดังนี้
ว่าที่ร้อยตรี สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิษณุโลก มีมูลความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86, มาตรา 162 (1), (4) ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 162 (1), (4) ประกอบมาตรา 84 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
นายวีระกิตติ์ อินทรประสิทธิ์ ประธานกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1), (4) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต นายทรงศักดิ์ ภูมิผล กรรมการตรวจรับพัสดุ มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1), (4) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
นอกจากนี้ ให้กันนางหทัยกาญจน์ แปงแก้ว กรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และนายขวัญชัย คำชุ่ม กรรมการตรวจรับพัสดุ เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี และให้ข้อกล่าวหาตกไปรายนางสาวอุบล นุชเพชร เนื่องจากไม่ได้ร่วมกระทำความผิด