เมื่อไม่นานมานี้ หลายคนคงจะได้ยินเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับคำว่า “ประกันสังคม” แน่นอนคำๆ นี้ มีความหมายต่อผู้คนจำนวนมากราวกว่า 24 ล้านคนที่ใช้สิทธินี้อยู่ และอาจเพิ่มขึ้นในอนาคต สิทธิเหล่านี้มีมากมายตั้งแต่ การประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ จนกระทั่งถึงตาย ปัจจุบันยังรวมไปถึงการคลอดบุตรสงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงานด้วย โดยมีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลชื่อ “สำนักงานประกันสังคม”
และแน่นอนอีกเช่นกัน บุคคลที่เข้ามากุมบังเหียนนั่งบริหารสำนักงานแห่งนี้ ย่อมต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมามิใช่น้อย ที่สำคัญต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลต่อการดูและทุกข์สุขของผู้คน ผ่านงานด้านสังคมสงเคราะห์มาโชกโชน
วันนี้ เราจึงจะขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักชีวิตของสตรีผู้หนึ่งที่กำลังนั่งบริหารงานที่สำคัญเช่นนี้ ตั้งแต่วัยเด็กจนก้าวเข้ามานั่งบริหารสำนักงานแห่งนี้ ซึ่งก็คือ คุณมารศรี ใจรังษี เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม คนปัจจุบัน หรือคนที่ 17 นั่นเอง
เลขาฯ มารศรี ใจรังษี ในวัย 60 ปี เริ่มเล่าให้เราฟังว่า เป็นคนพื้นเพ เกิดที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งอำเภอขนอมเป็นอำเภอเล็กๆ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 100 กิโลเมตร คุณพ่อ-คุณแม่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวนยางพารา คุณแม่ชอบค้าขายทุกอย่าง ขายขนมที่โรงเรียนบ้านน้ำโฉ ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน มีกล้วยแขก ข้าวต้มมัด หมี่ผัด ขนมจีนน้ำยา วันหยุดนำผักที่ปลูกเองในสวนไปขายส่งในตลาดบางโหนด ต้องนั่งเรือไป ซึ่งระยะทางไกลมาก ครอบครัวถือเป็นครอบครัวใหญ่ จึงไม่ได้ลำบากมากนัก แต่ไม่ได้ร่ำรวย พ่อ-แม่ มีที่ดินของตนเอง แต่อาชีพทำนา ทำสวนยาง ช่วงเริ่มต้นต้องทำงานหนัก คำสอนที่ได้ยินตั้งแต่จำความได้คือ ให้ขยันเรียนหนังสือ โตขึ้นจะได้มีงานทำดีๆ ไม่ต้องทำไร่ ทำสวน สิ่งที่ยังจำได้แม่นคือ
“มีอยู่วันหนึ่ง น่าจะก่อนเข้าโรงเรียน ตามพ่อกับแม่ไปที่นาเพื่อไปเกี่ยวข้าว ซึ่งต้องเดินไปไกลมาก จำได้ว่าร้อนมาก ขณะเดินกลับพ่อบอกว่า ถ้าไม่อยากร้อน ไม่อยากลำบากต้องขยันเรียน ซึ่งจะได้ยินคำพูดแบบนี้บ่อยๆ และสิ่งที่พ่อทำเป็นประจำทุกวันช่วงเย็นๆ คือการสอนหนังสือ ตัวดิฉันเองจะเขียน อ่านได้ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน”
คุณมารศรี บอกด้วยว่า เธอมีพี่น้องทั้งหมด 9 คน ผู้ชาย 6 คน ผู้หญิง 3 คน ตัวคุณมารศรีเป็นลูกคนสุดท้อง ปัจจุบันพี่ชายเสียชีวิตแล้ว 3 คน สำหรับชีวิตในวัยเด็ก เนื่องจากพี่ๆ ส่วนใหญ่จะมีครอบครัวแยกบ้านออกไป ในครอบครัวมี 4 คน คือตัวคุณมารศรี คุณพ่อ คุณแม่ และพี่ชายซึ่งมีอายุห่างกัน 3 ปี ในช่วงเด็กก็จะเล่นแบบเด็กผู้ชาย ยิงนกตกปลาวิ่งตามพี่ชายไปเที่ยวเล่นตามประสา ช่วยคุณแม่ทำงานบ้านบ้าง สิ่งที่เห็นจนชินคือ
“คุณพ่อ-คุณแม่เป็นคนขยันมาก ช่วงนั้นมีสวนยางพาราที่ได้ผลผลิตแล้ว แม่ก็ยังทำขนมไปขายที่โรงเรียน งานอดิเรกที่คุณพ่อทำคือ ยังคงมุ่งมั่นในการสอนให้ดิฉันอ่านและเขียนหนังสือทุกวันช่วงเย็นๆ เนื่องจากเห็นว่า ดิฉันความจำดี สอนแล้วจำได้แม่น” (ฟังคำบอกเล่าจากแม่)
สำหรับชีวิตวัยเรียน คุณมารศรี เล่าว่า เรียนหนังสือ ประถม 1-ประกม 4 ที่โรงเรียนบ้านน้ำโฉ โดยเข้าเรียนตอนอายุ 5 ขวบ (สมัยนั้นไม่มีอนุบาล) ก่อนเข้าเรียน ประถม 1 อ่านหนังสือพระอภัยมณีและหนังสืออื่นๆ ได้หมดแล้ว เขียนได้ จากที่คุณพ่อสอนที่บ้านโรงเรียนบ้านน้ำโฉ แม่ขายขนมเด็กนักเรียนอยู่ที่นั่น และเนื่องจากอายุ 5 ขวบ ยังไม่ครบเกณฑ์ แม่ต้องเข้าไปขอคุณครูใหญ่ ชื่อ “ครูน้อม มากชู” เพื่อให้ลูกได้เข้าเรียน โดยบอกกับครูใหญ่ว่า ลูกเขียนและอ่านได้แล้ว และขอร้องให้รับเข้าเรียน เนื่องจากไม่มีใครอยู่ที่บ้าน พ่อต้องไปทำสวน แม่มาขายขนมที่โรงเรียนนี้ จึงอยากให้ลูกมาด้วย ขอเข้าไปนั่งกับเพื่อนๆ ในห้องเรียนดีกว่าวิ่งเล่น ครูใหญ่ก็เลยตกลง
ปรากฏว่าตอนสอบปลายภาคได้คะแนนสอบดี จึงได้ผ่านไป ประถม 2 เรียนที่นี่จนถึง ป.4 ผลการเรียนที่นี่ สอบได้ลำดับที่ดี 1-5 ถือเป็นความภูมิใจของคุณพ่อที่คอยพร่ำสอนทุกวัน คุณพ่อจะคุยกับเพื่อนๆ เสมอในวงสนทนาเรื่องการเรียนของลูก ความรู้สึกขณะนั้นรู้สึกว่าพ่อมีความสุขมากเมื่อคุยเรื่องนี้ เลขาฯ มารศรี เล่าด้วยความภูมิใจ
“ดิฉันเรียน ป. 5 -ป.7 (เป็น ป.7 รุ่นสุดท้าย) ที่โรงเรียนบ้านท่าจันทร์ โรงเรียนนี้ระยะทางจากบ้านไปถึงโรงเรียนคร่าวๆ ประมาณ 7 กิโลเมตร ซึ่งตั้งอยู่อำเภอท้องเนียน บ้านดิฉันอยู่ที่อำเภอควนทอง เพื่อนๆ ราวๆ 10 คน ต้องเดินเท้าไปโรงเรียนเช้ามืดทุกวัน ไป-กลับ 14 กิโลเมตร เป็นเวลา 3 ปีในช่วงเวลานั้น ก็ไม่คิดว่าลำบากอะไร เดินคุยกันไปตามประสาและยังมีเพื่อนๆ บางคนที่เดินไปเรียนด้วยกัน”
แล้วมาต่อมัธยมศึกษาปีที่ 1- 3 ที่โรงเรียนขนอมวิทยาคม ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นขนอมพิทยา ตั้งอยู่ที่อำเภอขนอมซึ่งไม่สามารถเดินไปเรียนได้แล้ว ต้องไปอาศัยบ้านของคุณน้าน้องชายแม่ ที่เป็นครูสอนนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนในตัวอำเภอถือเป็นครั้งแรกที่ออกจากบ้าน อยู่ที่บ้านนี้น่าจะ 1 ปี แล้วก็มาอยู่กับพี่สาวที่มาซื้อบ้านในตัวอำเภอและมารับไปอยู่ด้วย ทำให้สบายใจมากขึ้น เพราะสนิทสนมกับพี่สาวคนนี้มาก และก็อยู่ใกล้โรงเรียน ทำให้เดินไปเรียนได้
มัธยมศึกษาปีที่ 4- 5 สอบเข้าเรียนต่อได้ที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ตั้งอยู่ในตัวจังหวัด คุณพ่อดีใจมาก เลือกเรียนแผนกศิลป์คำนวณ แม่ฝากให้มาพักกับญาติๆ ซึ่งเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนวัดเสมาเมือง เด็กๆ ที่ขนอมมาอยู่ที่บ้านนี้เพื่อเรียนหนังสือกันหลายคน ต้องปรับตัวในเรื่องการเรียนมากขึ้น มีความยากขึ้นจากที่เราสอบได้ที่ 1 มาจากต่างอำเภอที่นี่เจอเพื่อนที่เก่งกว่า วัดผลปรับเป็นเกรดเฉลี่ย เทอมแรกสอบได้เกรดระดับกลางๆ เทอม 2 เกรดไม่ดี เป็นช่วงที่คุณพ่อเริ่มมีอาการป่วยเป็นมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก ต้องไปรักษาที่กรุงเทพฯ อาจารย์เรียกไปพบ ได้เล่าให้อาจารย์ฟังเรื่องคุณพ่อว่ากำลังป่วย หมอให้กลับมาบ้านแล้วไม่สามารถรักษาได้ หลังจากนั้นไม่นานคุณพ่อก็เสียชีวิต ช่วงที่เรียน ม.ศ.5 ผลการเรียนเริ่มดีขึ้นตามลำดับ
ก้าวสู่ปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะเศรษฐศาสตร์ ปริญญาโท ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สาขา การจัดการภาครัฐ โดยเลขาฯ มารศรี เล่าว่า ช่วงเรียนปริญญาตรีที่รามคำแหง เป็นเด็กต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกต้องปรับตัวหลายอย่าง ต้องรับผิดชอบตัวเอง ปีแรกๆ บางวิชาสอบไม่ผ่าน ต้องลงทะเบียนใหม่และอ่านหนังสืออย่างหนัก
“ดิฉันได้ประสบการณ์และองค์ความรู้จากที่นี้่มากมาย ตรงตามสโลแกนของมหาวิทยาลัย “เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง” สำหรับการเรียนต่อปริญญาโท ปี 2547 ที่นิด้า ขณะนั้นดิฉันทำงานที่ จ.ชลบุรี และคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง จึงสมัครเรียนนิด้าสาขาตั้งอยู่ที่วิทยาลัยมหาดไทย อ บางละมุง ดิฉันจบ MPA รุ่นที่ 4 เพื่อนๆ ทุกคนน่ารักมากหลายท่านยังมีติดต่อกันจนถึงทุกวันนี้”
สำหรับในวัยทำงาน เลขาฯ มารศรี เล่าว่า จบจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงปี 2529 ต้นปี 2530 สมัครเข้าทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่กระทรวงอุตสาหกรรม และถูกส่งไปที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ทำอยู่ 2 ปีเศษ จากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดสอบบรรจุลูกจ้างกลุ่มนี้เป็นข้าราชการ ได้บรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการอุตสาหกรรมระดับ 3 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2533 ที่จังหวัดร้อยเอ็ด จากนั้นย้ายไปจังหวัดกาฬสินธุ์ และยื่นเรื่องโอนมารับราชการที่สำนักงานประกันสังคมเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2536
สำนักงานประกันสังคมจังหวัดปราจีนบุรี 5 ปี สำนักงานประกันสังคมจังหวัดอุบลราชธานี 1 ปี สำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี 5 ปี และสาขาศรีราชา 11 ปีเศษ ถือว่านานมาก ได้รับผิดชอบงานทุกฝ่าย เจอหัวหน้างานหลายท่าน ประกันสังคมจังหวัดหลายท่าน ได้ประสบการณ์ในการทำงานที่นี่มากมาย เนื่องจากชลบุรีเป็นจังหวัดใหญ่มีปัญหาที่ต้องแก้ไขอยู่ตลอดเวลา เป็นช่วงที่สำนักงานประกันสังคมเริ่มมีการเปิดที่ทำการสาขา โดยเป็นทีมแรกที่ถูกส่งไปจากสำนักงานที่ชลบุรี เพื่อไปปฏิบัติงานที่สำนักงานสาขาศรีราชา ซึ่งสาขาศรีราชาเป็นสาขาใหญ่ที่สุดของประเทศ มีจำนวนนายจ้าง ลูกจ้าง มากกว่าหลายๆ จังหวัด อยู่ที่นั่น 11 ปีเศษ จนตำแหน่งสุดท้าย สอบเลื่อนระดับได้ปรับตำแหน่งสูงขึ้นเป็นชำนาญการพิเศษและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสำนักงานสาขาศรีราชาในเวลาต่อมา
ปฎิบัติหน้าที่หัวหน้าสาขาศรีราชาอยู่ 3 ปีเศษ ถือเป็นก้าวแรกในการเข้าสู่การเป็นผู้บริหาร ที่นี่เจองานที่หนักและยากหลายเรื่อง เป็นช่วงที่มีการขยายความคุ้มครองสู่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ต้องหาสมาชิกเข้ามา, มีโครงการจ่ายเช็คช่วยชาติให้กับผู้ประกันตน, เริ่มโครงการรณรงค์ให้นายจ้างไปชำระเงินที่ธนาคาร ซึ่งสำนักงานสาขาศรีราชาได้ดำเนินการเรื่องนี้จนได้ผลงานอันดับ 1 ของทั้งประเทศ ผู้บริหารเริ่มรู้จักสาขาศรีราชามากขึ้น ซึ่งดิฉันคิดว่า ภารกิจที่สำเร็จ เนื่องจากมีทีมงานที่เข้มแข็ง ทุกคนช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่
เลขาฯ มารศรี เล่าถึงประสบการณ์การทำงานที่สำคัญให้ฟังด้วยว่า ประสบการณ์ที่สำคัญมีหลายช่วงเวลา แต่ขอนำมาเล่าเฉพาะช่วงที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานที่จังหวัดต่างๆ เริ่มด้วยตำแหน่งหัวหน้าสาขาศรีราชา ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นหัวหน้าสำนักงานเต็มตัว ต้องขึ้นกับประกันสังคมจังหวัด เป็นช่วงเวลาที่ประทับใจและต้องแก้ปัญหาหลายด้าน ย้อนกลับไปมองถือว่า เป็นคนที่โชคดีได้ทำงานที่นี่ ผู้บริหารหลายท่านเริ่มรู้จัก เนื่องจากสาขาศรีราชามีอัตรากำลังน้อย แต่สามารถบริหารจัดการงานที่มีปริมาณมากได้ดี มีหน่วยงานประกันสังคมมาดูงานบ่อย ได้นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการงานตามวิธีที่ดิฉันร่วมคิดกันกับทีมงาน ขอดึงบางเรื่องมานำเสนอ
โครงการจ่ายเช็คช่วยชาติ ซึ่งจะต้องแจกเช็คให้กับผู้ประกันตนจำนวน 2 แสนกว่าฉบับ ประสบการณ์ครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า การวางแผนที่ดีและทีมงานที่ดี มีความสำคัญยิ่งที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ
- การขอรับการสนับสนุนที่ดินเพื่อก่อสร้างสำนักงานสาขาศรีราชา โดยได้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี จนสำเร็จ ได้รับที่ดินจากกรมธนารักษ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารสำนักงานสาขาศรีราชา สิ่งที่ได้จากเรื่องนี้คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจและการประสานงานที่ดีสามารถทำให้งานประสบความสำเร็จ
- การปรับกระบวนงานเพื่อแก้ปัญหาผู้ประกันตนที่มาติดต่อจำนวนมากและใช้เวลานาน โดยที่สาขาศรีราชาได้กำหนดช่องให้บริการทางด่วน สำหรับเคสที่มายื่นใช้เวลาน้อยไม่ต้องเข้าคิวรวมกับเคสอื่นๆ เช่น เคสทันตกรรม ต่อมาเมื่อมีการปรับวิธีการจ่ายเงิน โดยโอนผ่านบัญชีธนาคารสาขาศรีราชา กำหนดให้ผู้ประกันตนยื่นเรื่องที่ประชาสัมพันธ์และกลับได้เลย และค่อยนำเคสแจกให้เจ้าหน้าที่วินิจฉัย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้ผู้ประกันตนยื่นเบิกสิทธิประโยชน์ผ่านระบบอิเลคโทรนิคส์ได้ถือเป็นการพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
- การรณรงค์ให้นายจ้างไปชำระเงินผ่านธนาคาร เดิมให้มาชำระที่สำนักงานพบว่าวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน สาขาคิวยาวมาก เมื่อมีนโยบายนี้มา ถือว่าดีมาก สาขารณรงค์จนทำได้ลำดับที่ 1 ของประเทศ เรื่องนี้ก็มีความท้าทายเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่นายจ้างยังไม่เห็นด้วย ใช้ทั้งวิธีอ่อนและแข็งจนสำเร็จ
ช่วงที่ไปดำรงตำแหน่งประกันสังคมจังหวัดพังงา (ระดับอำนวยการต้น) ที่พังงามีที่ทำการสำนักงานสวยงาม จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดเล็กๆ บรรยากาศดีมาก งานไม่เยอะเหมือนสาขาศรีราชา แต่มีปัญหาเรื่องงบปรับภาพลักษณ์ของสำนักงาน ซึ่งของบไว้ก่อนที่ดิฉันจะไป แต่พบว่าจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างได้เพียงงวดเดียว แต่สัญญาใกล้จะครบกำหนดแล้ว มีปัญหาเรื่องแบบแปลนและวัสดุหลายชิ้นเลิกผลิต ถือเป็นงานที่ต้องศึกษาระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ซึ่งต้องใช้เวลาแก้ปัญหาหลายเดือนก็สำเร็จ
ที่จังหวัดภูเก็ต เป็นช่วงที่สำนักงานประกันสังคมกำลังรณรงค์เพิ่มจำนวนสมาชิกผู้ประกันตนมาตรา 40 ดิฉันให้ทีมงานออกหน่วยเคลื่อนที่ รับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 จนได้สมาชิกเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นลำดับที่หนึ่งของประเทศ โดยในวันหยุดทำแผนออกไปหาสมาชิกที่ตลาดนัดตอนเช้า และช่วงที่มีงานกฐิน จะไปตั้งบูธตามวัดต่างๆ ได้ผู้สมัครแต่ละครั้งจำนวนมาก โดยดิฉันจะลงไปร่วมด้วยกับน้องๆ นอกจากนั้นแล้ว ที่นี่เจอเหตุการณ์ร้ายแรง 2 ครั้ง มีตึกที่กำลังก่อสร้าง ถล่ม มีผู้เสียชีวิตหลายรายทั้งแรงงานคนไทยและต่างด้าว ได้สั่งการให้ทีมงานเร่งตรวจสอบข้อมูลและจ่ายเงินเยียวยาตามสิทธิให้กับทายาทโดยเร็ว และรายงานข้อมูลทั้งหมดให้ผู้บริหารรับทราบ ดิฉันอยู่ที่นี่ได้ปีเศษได้ย้ายไปที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 หลังจากนั้น มีการจ่ายเงินกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ซึ่งทั้งจังหวัดสุราษฎร์และสาขาเกาะสมุยมีเคสที่ยื่นขอเบิกจำนวนมาก ต้องบริหารจัดการให้น้องๆ ฝ่ายอื่นลงมาช่วย ต้องหยุดงานอื่นระยะหนึ่ง เสาร์-อาทิตย์น้องๆ ไม่ได้พัก ดิฉันก็เข้ามานั่งให้กำลังใจและร่วมวางแผน ปรับแผนกันตลอดเวลา
ขอเล่าประสบการณ์ต่างๆ พอสังเขป หลังจากทำงานที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ดิฉันได้รับคำสั่งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นงานที่เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง แต่ก็สามารถนำความรู้ที่มีจากจังหวัดสิ่งที่เจ้าหน้าที่คาดหวังมาพัฒนางานที่นี่ มีหลายๆ เรื่อง ขอจบประมาณนี้ที่เกี่ยวกับประสบการณ์ ส่วนตำแหน่งอื่นๆหลังจากนั้นจนถึงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเป็นโอกาสที่ได้รับจากผู้บริหารหลายๆ ท่าน ที่ช่วยสนับสนุน และผลงานที่ผ่านมาจากทีมงานทุกๆ คนที่ช่วยกัน จนดิฉันได้รับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ต้องขอกล่าวขอบคุณทุกท่านมา ณ โอกาสนี้
ต่อข้อถามว่า ท่านเลขาฯ มองอย่างไรบ้างกับระบบประกันสังคมของไทย มีความท้าทายอะไรบ้าง เลขาฯ มารศรี กล่าวว่า ระบบประกันสังคม แสดงถึงการร่วมแรงร่วมใจกันของทั้ง 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล นายจ้างและลูกจ้าง เพื่อสร้างหลักประกันทางสังคมที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของกองทุนที่มีเสถียรภาพ ดิฉันมองว่า ระบบประกันสังคมถือเป็นระบบที่ดีและสำคัญของประเทศในการดูแลสมาชิกให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณี เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ ว่างงาน โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ เป็นการเก็บออมเงินไว้เมื่อเกษียณอายุ และอายุครบ 55 ปีหากส่งเงินสมทบ 180 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินกรณีชราภาพรายเดือนไปจนตลอดชีวิต พบว่าเงินสมทบกรณีชราภาพที่จ่ายเข้ามาในกองทุนจากนายจ้างและผู้ประกันตนแต่ละราย สามารถจ่ายเงินกรณีชราภาพรายเดือนให้กับผู้ประกันตนประมาณ 5 ปี หลังจากนั้นเงินที่ได้รับรายเดือน จะเป็นเงินจากกองทุนประกันสังคม
“ดิฉันขอยืนยันว่า แม้ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ กองทุนประกันสังคมยังเป็นกองทุนที่มีเสถียรภาพ ตลอดระยะเวลา 34 ปี (ตั้งแต่ 3 กันยายน 2533) มีการปรับสิทธิประโยชน์มาแล้วกว่า 97 ครั้ง โดยไม่ได้ปรับเพิ่มเงินสมทบให้เป็นภาระเพิ่มเติมของนายจ้างและผู้ประกันตน”
ดิฉัน คิดว่าสำนักงานประกันสังคมมีความท้าทายในอนาคตที่สำคัญ เช่นประกอบด้วย สังคมสูงวัย : ทำให้รายจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพสูงขึ้นในทุกปี รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป : ผู้ประกันตนภาคบังคับเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลง ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่สูงขึ้น : ประกันสังคมควรเน้นการส่งเสริมสุขภาพ (ป้องกันดีกว่ารักษา) สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน : เช่น เกิดโรคระบาด covid19 อุทกภัย เหตุแผ่นดินไหว จะมีผลกระทบค่าใช้จ่ายกองทุน
และบันได 6 ขั้น สู่ความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม 1. ทำให้ ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพียงพอต่อค่าครองชีพ โดยการปรับเพดานค่าจ้าง (ผ่านการประชาพิจารย์ อยู่ระหว่างเสนอ ครม เพื่อแก้กฏกระทรวง) 2. เพิ่มผลตอบแทนการลงทุนเป็น 5% ในทุกๆปี จากการปรับแผน SAA ฉบับที่ 5 สำนักงานทำได้ตามเป้าหมายในปี 2567
3. ขยายความคุ้มครองประกันสังคมนอกเหนือ พ.ร.ฎ. พ.ศ. 2560 ใน 3 กลุ่มอาชีพ คือ เพาะปลูก ลูกจ้างงานบ้าน แผงลอย 4. มาตรการในการป้องกันสุขภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ 5. ศึกษาแนวทางในการสร้างแรงจูงใจในการขยายอายุเกษียณ 6. ศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มเงินสมทบภาครัฐ
อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นต่อไปในการดำรงชีวิตและการทำงานให้ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง เรายิงเป็นคำถามสุดท้าย เลขาฯ มารศรี กล่าวว่า ดิฉันมีความภาคภูมิใจในการเป็นบุคลากรของสำนักงานประกันสังคมและขอส่งต่อความภาคภูมิใจนี้ให้น้องๆ ทุกคน โดย 1. ขอให้ยึดถือผลประโยชน์ของผู้ประกันตนเป็นเข็มทิศและจุดยึดในการทำงาน 2. มีความรักความสามัคคี เป็นครอบครัวประกันสังคม พวกเราเป็นครอบครัวนักกีฬาจะต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรง รักษาใจให้เข้มแข็ง มีความุ่งมั่นให้ภารกิจงานบรรลุตามเป้าหมาย
“ดิฉันขอเฝ้ามองและเป็นกำลังใจให้น้องทุกคนในการขับเคลื่อนสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรแห่งความเชื่อมั่น ไว้วางใจ สร้างหลักประกันทางสังคมที่ยั่งยืน ครอบคลุม อย่างมีคุณภาพเพื่อสมาชิกทุกคน การทำงานให้ประสบความสำเร็จนั้นมีหลากหลายวิธี แล้วแต่การออกแบบ ดิฉันคิดว่า การครองตน ครองคน ครองงานก็สามารถใช้ได้เป็นอย่างดี การทุ่มเทแรงกายแรงใจ ความอดทน เข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรคใดก็ต้องนำมาใช้ร่วมด้วย” เลขาฯ มารศรี กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด
นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม - เกิด 10 มกราคม 2508
วุฒิการศึกษา - ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ มหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
การดำรงตำแหน่งที่สำคัญ – 2556-2560 หน.สำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา, 2560-2561 ประกันสังคมจังหวัดพังงา, 2561-2562 ประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต, 2562-2564 ประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี, ม.ค. 2564-ต.ค. 2564 ผู้อำนวยการสำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ, 2564-2565 ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์, ม.ค. 2565-ธ.ค. 2565 ผุ้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม, 2566-2567 รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม, มี.ค. 2567-พ.ย. 2567 ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน, 17 พ.ย. 2567 - ปัจจุบัน เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
//////////////////////////////////////////////////////