ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
กาญจนบุรี - วัด ชาวตำบลหนองประดู อำเภอเลาขวัญ เตรียมเฮ ผอ.สทบ.เขต 2 (สุพรรณบุรี) เปิดโครงการศึกษา สำรวจและพัฒนาน้ำบาดาลในพื้นที่หาน้ำยาก
15 พ.ค. 2568

 หากแล้วเสร็จ ปชช.ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 7 หมู่บ้าน 2,600 ครัวเรือน หรือ 7,000 คน ปริมาณน้ำรวม 492,000 ลบ.ม./ปี

วันนี้ 15 พ.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) เปิดเผยว่า พื้นที่ตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ถูกขนานนามว่า “อีสานแห่งภาคกลาง” ซึ่งประกอบไปด้วย 5 อำเภอในจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ อำเภอเลาขวัญ อำเภอบ่อพลอย อำเภอหนองปรือ อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอพนมทวน โดยเฉพาะตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรรุนแรงมากที่สุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา เป็นพื้นที่เขตเงาฝน หรือ Rain shadow ทำให้ในแต่ละปีมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยต่ำกว่าพื้นที่โดยทั่วไป อีกทั้งยังอยู่นอกเขตชลประทาน ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน คลองธรรมชาติจะมีน้ำเฉพาะช่วงฤดูฝน อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพียงแห่งเดียวที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับผลิตระบบประปา คืออ่างเก็บน้ำหนองไก่เหลือง มีขนาดความจุเพียง 1.14 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถบริการน้ำให้กับประชาชนได้เพียง 670 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมีมากถึง 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ดังนั้นในช่วงหน้าแล้งของทุกปีชาวบ้านจะเดือดร้อนเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำกินน้ำใช้ ส่วนเรื่องน้ำเพื่อการเกษตรก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะน้ำจะกินจะใช้ยังไม่มีเลย
ที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองประดู่ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเรื่องน้ำให้กับประชาชน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะการขุดสระไว้เก็บน้ำก็มีน้ำเพียงหน้าฝน พอหน้าแล้งน้ำในสระก็แห้ง อีกทั้งยังมีตะกอนขุ่นข้นและคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ทำให้มีการใช้สารเคมีกันอย่างเข้มข้น ส่งผลให้สารพิษจากปุ๋ย ยาฆ่าหญ้าและแมลง ปนเปื้อนในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ 

จากสภาพดังกล่าวชาวบ้านต้องพึ่งพาตนเอง ด้วยการซื้อน้ำจากภาคเอกชนมาไว้ใช้ในครัวเรือน ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนจำนวนหลายพันบาทต่อเดือน ซึ่งทางองค์การส่วนตำบลหนองประดู่ก็ทำได้เพียงบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และทำเช่นนี้มาเป็นระยะเวลาช้านาน ถือเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของทางราชการอย่างมหาศาล แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้

นายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ให้ประชาชนมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่หาน้ำยาก เพื่อหาทางนำน้ำบาดาลมาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ผ่านมากรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ร่วมกับสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) ได้ดำเนินโครงการสำรวจและจัดทำแผนที่ศักยภาพน้ำบาดาลสำหรับการบริหารจัดการน้ำบาดาลพื้นที่ภัยแล้งซ้ำซาก แอ่งหนองฝ้าย (ระยะที่ 1) และโครงการศึกษาสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาลในพื้นที่หาน้ำยากเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนและสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ (ระยะที่ 1) 

โดยทำการสำรวจค้นหาแหล่งน้ำบาดาลใหม่ ในพื้นที่ตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี พบว่ามีความเป็นไปได้ ที่จะพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลที่มีศักยภาพสูงและสามารถใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับทำระบบประปาบาดาลได้เพียงพอ หากแต่การที่จะพัฒนาน้ำบาดาลให้มีปริมาณน้ำมากเพียงพอต่อความต้องการ จำเป็นต้องเจาะในระดับที่ลึกมากกว่า 150 เมตร เครื่องจักรต้องมีประสิทธิภาพสูงและใช้เวลาในการดำเนินการมาก จึงมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่เหมาะสมในการเจาะและพัฒนาบ่อน้ำบาดาลเข้ามาใช้ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการให้น้ำของบ่อน้ำบาดาลอย่างเต็มประสิทธิภาพ

จึงได้จัดทำ “โครงการศึกษา สำรวจและพัฒนาน้ำบาดาลในพื้นที่หาน้ำยาก ตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี” โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ในการสำรวจความเหมาะสมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในพื้นที่ตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้ทราบถึงปริมาณน้ำบาดาลที่เหมาะสมและเพียงพอ

พร้อมทั้งกำหนดพื้นที่และออกแบบระบบประปาฯ ให้สอดคล้องกับอุทกธรณีวิทยาและความต้องการใช้น้ำ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว และเพื่อให้ได้รูปแบบและแนวทางการพัฒนาน้ำบาดาลในพื้นที่หาน้ำยากให้เหมาะสมกับสภาพอุทกธรณีวิทยาและสภาพพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

รวมทั้งเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลในพื้นที่หาน้ำยากที่มีลักษณะอุทกธรณีวิทยาคล้ายๆ กันต่อไป หากดำเนินการโครงการแล้วเสร็จจะมีประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 7 หมู่บ้าน 2,600 ครัวเรือน หรือ 7,000 คน ปริมาณน้ำรวม 492,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปีเลยทีเดียว”  นายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) เผย

สำหรับก่อนหน้านี้ในพื้นที่เกิดปัญหาแล้งนี้ พระสุวิรัตน์  ถิรปัญโญ  รักษาการแทนเจ้าอาวาส วัดขุนด่าน หมู่ที่ 14 ตำบลหนองปลิง อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ได้เดินทางไปที่สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อยื่นหนังสือให้สำนักทรัพยากรน้ำฯ.ช่วยเหลือเนื่องจากภัยแล้ง ประกอบกับบ่อน้ำบาดาลซึ่งเป็นบ่อน้ำโครงการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อส่งเสริมความมั่นคงระดับชุมชนปีงบประมาณ ปี 2563 ที่วัดขุนด่าน หมู่ที่ 14 ตำบลหนองปลิง อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 2 บ่อ ชำรุดเสียหายไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ ทำให้น้ำใช้ในการอุปโภค บริโภค ของวัดและประชาชนที่ใช้น้ำจากน้ำบาดาลสองบ่อนี้ได้รับความเดือดร้อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของทางวัด และประชาชนผู้ใช้น้ำ

โดยมีรองผู้อำนวยการ สำนักทรัพยากรน้ำเขต 2 สุพรรณบุรี มารับหนังสือแทน พร้อมทั้งรับปากว่าจะรีบตรวจสอบเพื่อแก่ไขบ่อน้ำบาดาลทั้ง 2 บ่อ ให้ใช้ได้ โดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพระ และประชาชน โดยเร็ว และทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ลงพื้นที่ทำการสำรวจเพื่อเร่งช่วยเหลือชาวบ้าน วัด ในทันที
   ////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
21 เม.ย. 2568
“กีฬา ... กีฬา ... เป็นยาวิเศษ” ส่วนหนึ่งของคำประพันธ์ที่นำมาร้องกันในสมัยก่อน หรืออาจจะร่วมถึงในยุคสมัยนี้ด้วยก็คงไม่ผิด และแน่นอนความหมายของนั้นก็คือ การเล่นกีฬา การออกกำลังกายนั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรคภัยของเรานั่นเอ...