ในยุคที่ผู้คนต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพที่ทั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ความเครียด และสังคมผู้สูงวัยที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผู้คนจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับ “Wellness” หรือการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เทรนด์สุขภาพนี้ไม่เพียงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก แต่ยังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ รายงานจาก Global Wellness Institute (GWI) คาดว่าอุตสาหกรรม Wellness ทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.3% ระหว่างปี 2023–2028 โดยในปี 2024 จะมีมูลค่าราว 6.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และขยายแตะเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2028 คิดเป็น 6.8% ของ GDP โลก สะท้อนว่า Wellness ไม่ใช่แค่เทรนด์แต่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและระบบสุขภาพในอนาคต
ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ ที่ปรึกษาคณบดีฝ่ายวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ และอาจารย์ประจำหลักสูตรบัณฑิตศึกษา วิทยาลัยการแพทย์แบบบูรณาการ (CIMw) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้สะท้อนมุมมองว่า อุตสาหกรรม Wellness ในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมากจากศักยภาพด้านแหล่งท่องเที่ยว ธรรมชาติ อาหารไทย และองค์ความรู้ด้านการแพทย์ผสมผสานทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน หากมีการขับเคลื่อนเชิงระบบอย่างจริงจัง Wellness จะไม่ใช่แค่เทรนด์ชั่วคราว แต่จะกลายเป็นโอกาส ของประเทศ ในการยกระดับเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
สุขภาพที่ดี...ต้องครบทั้งกาย ใจ อาหาร และสิ่งแวดล้อม
ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ เปิดเผยว่า เทรนด์ Wellness กำลังเติบโตในหลายมิติ โดยหนึ่งในแนวโน้มหลักคือ “การดูแลสุขภาพเพื่อความสุขสบาย” ที่ครอบคลุมตั้งแต่ Wellness Real Estate เน้นการออกแบบที่อยู่อาศัยให้เอื้อต่อสุขภาวะ เช่น มีพื้นที่สีเขียว ระบบกรองอากาศ และสภาพแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดความเครียด, Wellness Tourism การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเน้นการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ รวมถึงเทรนด์ใหม่ที่มาแรงอย่าง Food Wellness ที่เน้นการกินอย่างมีสติและตระหนักรู้เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว และ Mental Wellness การดูแลสุขภาพจิตใจให้สมดุล มีสติ สามารถรับมือกับความเครียดและปัญหาในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“หนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เติบโตเร็วและสร้างรายได้สูงที่สุดในยุคนี้คือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม ทั้งเครื่องสำอางและอาหารเสริม จุดเด่นของธุรกิจนี้คือ ไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์โดยตรง ก็สามารถทำการตลาดแบบตรงถึงผู้บริโภค (Direct Marketing) ได้ทันที ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและรวดเร็ว”
ในขณะเดียวกัน เทรนด์สปาเพื่อสุขภาพ หรือ Spa Wellness มีการพัฒนาไปอีกขั้น จากสปาทั่วไปสู่ระดับ “Designer Spa” ที่ออกแบบให้เชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ เช่น การพอกโคลนเพื่อบำบัดความร้อนที่ทะเล Dead Sea (Thermal Therapy), การแช่ออนเซนที่ประเทศญี่ปุ่น หรือการฝึกโยคะและสมาธิในประเทศบาหลี ซึ่งเป็นการผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับแนวคิดสุขภาพอย่างกลมกลืน
ไทยพร้อมขึ้นแท่นศูนย์กลาง Wellness แห่งเอเชีย
สำหรับประเทศไทยมีศักยภาพที่โดดเด่นในด้าน Wellness แบบองค์รวม ทั้งจากแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ อาหารไทยที่หลากหลายและดีต่อสุขภาพ ตลอดจนความรู้ทางการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับ จึงเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะจากยุโรปและประเทศญี่ปุ่น จึงถือเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวด้านสุขภาพในภูมิภาค
ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลใหญ่ในประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังปรับแนวคิดทางการแพทย์จากการ “รักษาเมื่อเจ็บป่วย” ไปสู่ “การป้องกันก่อนป่วย” และเน้นการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงตั้งแต่ต้น และเริ่มเปิด Wellness Center มากขึ้น เช่นเดียวกับต่างประเทศอย่าง John Hopkins หรือ Cleveland Clinic ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มองว่าการดูแลสุขภาพแนว Wellness จะเป็นแนวทางช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและทำเงินได้
ในด้านจิตใจ ผู้คนกำลังเผชิญกับ “ความไม่สงบในใจ” จากสิ่งแวดล้อมและไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบในชีวิตประจำวัน และต้องเผชิญกับปัญหาภาวะต่อมหมวกไตล้า ฮอร์โมนต้านความชราลดลง เกิดภาวะนอนไม่หลับ กลางวันง่วง ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า สมาธิสั้น ศูนย์ฝึกสมาธิแบบ Retreat จึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เพื่อฟื้นฟูสุขภาพจิตแบบลึกซึ้ง (Inner Peace) รวมถึงการฟื้นความนิยมของการนวดไทย เช่น นวดแผนโบราณ นวดเชลยศักดิ์ ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วก็ได้รับความนิยมอีกครั้ง ทั้งนี้มหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ ก็กำลังพัฒนาหลักสูตร Wellness อย่างครบวงจร ทั้งในด้านวิชาการ การปฏิบัติจริง และการตลาด เพื่อสร้างบุคลากรที่พร้อมต่อยอดได้จริงในโลกธุรกิจสุขภาพ
“อุปสรรคหนึ่งของไทยคือ “การขาดการทำงานเป็นทีม” ซึ่งหากต้องการให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน Wellness ระดับโลก ทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกรัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย ต้องรวมพลังกันภายใต้แนวคิด “Thailand Wellness” โดยแบ่งบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน และมีหน่วยงานกลางบูรณาการให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน”
สามคลื่นใหญ่ของ Wellness ในอีก 10 ปีข้างหน้า
สำหรับในอนาคต 10–20 ปีข้างหน้า เทรนด์ Wellness จะขับเคลื่อนผ่าน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. เทรนด์ Wellness สำหรับผู้สูงวัย เมื่อไทยเข้าสู่ยุค Silver Age อย่างเต็มตัว การดูแลผู้สูงวัยให้ Active ช่วยเหลือตัวเองได้ จะลดภาระค่ารักษาพยาบาลและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี 2. เทรนด์ Fertility Wellness รองรับคนรุ่นใหม่ที่แต่งงานช้า มีลูกยาก หรือไม่อยากมีลูก เทคโนโลยี Assisted Reproductive Technology หรือ ART จะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก และอาจขยายไปถึงการปรับปรุงคุณภาพของไข่และสเปิร์มตั้งแต่วัยเด็ก และ 3. เทรนด์ Mental Wellness การฟื้นฟูพลังใจและการหาความสุขที่ยั่งยืนผ่านการออกกำลังกาย ฝึกหายใจ สมาธิ และ Forest Bathing เป็นการ “อาบป่า” ผ่านการเดิน สูดอากาศและอยู่กับธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจที่จะส่งผลต่อสมองและสุขภาพโดยรวมได้
อีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นใน Wellness คือเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI และ Big Data โดยช่วยติดตามสุขภาพแบบเรียลไทม์ในผู้สูงวัย เช่น การตรวจจับท่าทางการล้ม ความดันผิดปกติ และส่งต่อข้อมูลไปยังศูนย์สุขภาพชุมชนหรือโรงพยาบาลทันที ถือเป็นการดูแลสุขภาพเชิงรุกที่ใช้เทคโนโลยีช่วยดูแลแบบPersonalization ที่แม่นยำและตรงจุด
“Wellness” ไม่ใช่เพียงเทรนด์สุขภาพในปัจจุบัน แต่คือทิศทางสำคัญของอนาคตที่มุ่งเน้นการดูแลทั้งกาย ใจ และสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร หากประเทศไทยสามารถพัฒนาเชิงนโยบายอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน และบูรณาการจุดแข็งด้านการแพทย์ การท่องเที่ยว และวัฒนธรรม เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็มีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้าน Wellness ในภูมิภาค และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ในทุกมิติ