ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
DPU จดลิขสิทธิ์ลายผ้าท้องถิ่น เสริมสร้างอัตลักษณ์และโอกาสทางธุรกิจให้ชุมชน
25 พ.ค. 2568

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้ทำการจดลิขสิทธิ์ลายผ้าจำนวน 4 ลาย เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งลายผ้าทั้ง 4 นี้เป็นผลงานที่ได้พัฒนาจากโครงการวิจัยที่เน้นการส่งเสริมอัตลักษณ์และศิลปะท้องถิ่นผ่านการออกแบบผ้าโดยมีการใช้เทคนิคการย้อมสีธรรมชาติและการทอผ้าดั้งเดิมจากชุมชนในประเทศไทย ผลงานลายผ้าที่ได้รับลิขสิทธิ์ประกอบด้วย 1. ลาย "ทุ่งกุลารุ่งเรืองรอง” 2. ลาย "รวงทองแห่งท้องทุ่ง" 3. ลาย "อรุณรุ่งที่ทุ่งกุลา" 4. ลาย "ผืนนาห่มแสงทอง"

 

โดยทั้งหมดเป็นผลงานจากโครงการวิจัย "การศึกษาสุขภาวะชุมชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์จากผ้าย้อมสีธรรมชาติ โดยใช้อัตลักษณ์ชุมชนทอผ้าร้อยรักษ์ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด" โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กมลศิริ วงศ์หมึก เป็นหัวหน้าโครงการและ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กมลวรรณ พัชรพรพิพัฒน์ สารสุข และผู้ช่วยศาสตราจารย์นิติพล ธาระรูป เป็นผู้ร่วมวิจัย

 

ลิขสิทธิ์ผ้าทอ…ปลุกชีวิตภูมิปัญญาสร้างเศรษฐกิจชุมชน 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กมลศิริ วงศ์หมึก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจดลิขสิทธิ์ครั้งนี้ได้รับการรับรองจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นการยืนยันการปกป้องลิขสิทธิ์ของลายผ้าที่พัฒนาขึ้นในนามมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยลายผ้าที่ได้รับการจดลิขสิทธิ์เป็น "ทรัพย์สินทางปัญญา" ที่มีมูลค่าทางธุรกิจ และจะได้รับการคุ้มครองในด้านการใช้งานในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในการผลิตผ้าเหล่านี้สามารถนำผลิตภัณฑ์ไปใช้งานหรือจำหน่ายในตลาดได้โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากบุคคลอื่น นอกจากนี้ยังสร้างให้เกิดความภูมิใจและความตระหนักในคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกพัฒนาและปกป้องอย่างเป็นระบบ

 

โครงการวิจัยที่พัฒนาออกมาในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทอผ้าและการย้อมสีธรรมชาติ แต่ยังมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีในชุมชนอีกด้วย โดยเฉพาะในชุมชนทอผ้าร้อยรักษ์ที่ยังคงใช้เทคนิคการย้อมสีธรรมชาติและการทอผ้าด้วยมือ ซึ่งถือเป็นการสร้างงานและเสริมสร้างความรู้สึกผูกพัน ความรู้สึกร่วมในอัตลักษณ์ของชุมชน

 

สี เส้น และเรื่องเล่า สู่แรงบันดาลใจบนผืนผ้า

ส่วนแรงบันดาลใจในการลงพื้นที่ศึกษาชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาผ้าทอและอัตลักษณ์ของชุมชนคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเดินทางไปยังชุมชนในจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นการค้นหาแรงบันดาลใจที่สะท้อนผ่านศิลปะและความเชื่อมโยงของชุมชนกับธรรมชาติเพื่อดึงมาเป็นอัตลักษณ์ โดยมีการลงพื้นที่สนทนากลุ่มและสัมภาษณ์สมาชิกในชุมชนเพื่อรวบรวมข้อมูลที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ พร้อมเล่าถึงกระบวนการในการเข้าไปสัมภาษณ์กลุ่มสมาชิกในชุมชนท้องถิ่นเพื่อเก็บข้อมูลและสะท้อนความเป็นมาของอัตลักษณ์ชุมชน โดยจับประเด็นคำสำคัญ จากข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในชุมชนที่มีความสัมพันธ์กับประเพณี วัฒนธรรม และธรรมชาติ ออกมาเป็นแนวเรื่องหลัก 4 แนวเรื่องหลัก ได้แก่ ทุนวัฒนธรรมประเพณี สถานที่สำคัญที่มีคุณค่าทางจิตใจ ทุนทางสังคม และทุนทางธรรมชาติ

 

เมื่อได้ข้อสรุปจากการสำรวจ การสังเคราะห์ข้อมูลและผลการประเมินความเหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องอัตลักษณ์ของวิสาหกิจชุมชนร้อยรักษ์ที่มาจาก ทุ่งกุลาร้องไห้ ในแนวเรื่องสถานที่สำคัญที่มีคุณค่าทางจิตใจเป็นแนวเรื่องที่สื่อสารถึงอัตลักษณ์ชุมชนชัดเจนที่สุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กมลศิริ ได้กล่าวถึงกระบวนการออกแบบลายผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวเรื่องดังกล่าว ทั้งการใช้สีที่สะท้อนถึงธรรมชาติ เช่น สีน้ำตาล เหลือง ขาว เขียว ฟ้า ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของท้องฟ้า พื้นดิน ความอุดมสมบูรณ์และวิถีชีวิตชาวนา และการวางเส้นพุ่งเส้นยืนให้เกิดเป็นลวดลายที่สะท้อนถึงธรรมชาติ ผืนนา และบรรยากาศแห่งท้องทุ่ง

 

ผ้าทอมือที่เล่าเรื่องราวผสมแฟชั่นร่วมสมัยที่จับต้องได้

ทั้งนี้ลายผ้าที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญในด้านการทอผ้าและการย้อมสีธรรมชาติ ว่าเป็นลวดลายที่มีความเหมาะสมในการนำไปใช้บนผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ โดยเลือกลายที่ได้รับคะแนนประเมินสูงสุด 4 ลายจาก 12 ลายเพื่อนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า และสินค้าไลฟ์สไตล์ต่างๆ สำหรับคนทำงานรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

 

การออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นไม่ใช่เพียงแค่การนำเทคนิคการทอผ้าและการย้อมสีธรรมชาติมาใช้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างคอลเลกชันผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือชุมชนที่ผสมผสานกับวัสดุและรูปแบบทางแฟชั่นที่สามารถขายในเชิงพาณิชย์ได้ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง

 

นอกจากนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กมลศิริ ยังเล่าถึงกระบวนการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของชุมชนว่า การพัฒนาลายผ้าในโครงการนี้เป็นผลจากการทำงานร่วมชุมชนทอผ้าร้อยรักษ์ในอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยการใช้เทคนิคการย้อมสีธรรมชาติที่ได้จากวัสดุในท้องถิ่น เช่น เปลือกไม้และพืชพันธุ์ท้องถิ่น เพื่อให้เกิดเป็นสีที่สะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนและสามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์แฟชั่นหรือไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งโครงการเหล่านี้ยังช่วยเสริมสร้างสุขภาวะชุมชน ผ่านการสร้างกิจกรรมที่ทำให้สมาชิกในชุมชนมีความสุขจากการทำงานร่วมกันและการใช้ชีวิตที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมประเพณีและธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

เตรียมนำผลงานจัดแสดงในงานวิจัยแห่งชาติ 2025

โดยทิศทางในอนาคตต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการขยายตลาด คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าต่อว่า หลังจากที่ลายผ้าทั้ง 4 ลายได้รับการจดลิขสิทธิ์ DPU วางแผนที่จะขยายการพัฒนาเหล่านี้ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยการผลักดันในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าเหล่านี้ในตลาดค้าปลีก และการนำเสนอเพื่อรับออร์เดอร์ รวมถึงแนวคิดที่จะผลิตสินค้าในรูปแบบคอลเลกชันแฟชั่นที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ ของใช้ ของแต่งบ้าน ตลอดจนลวดลายผ้าที่มีเทคนิคที่น่าสนใจมากขึ้น โดยจะนำเสนอผลิตภัณฑ์เหล่านี้ผ่านช่องทางออนไลน์และจัดงานแสดงสินค้า เพื่อสร้างความยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของชุมชน และจะนำผลงานไปจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568 (Thailand Research Expo & Symposium 2025) ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 16 – 20 มิถุนายน 2568 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

 

“การที่ DPU สามารถจดลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์นี้ได้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ แต่ยังเป็นการยกระดับคุณค่าของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและสร้างความภาคภูมิใจให้กับสมาชิกในชุมชนเอง ที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะทำงานร่วมกับนักศึกษาในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยใช้ความรู้จากโครงการวิจัยนี้ เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์และการทำงานร่วมกันในระดับท้องถิ่นและระดับสากล” หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 พฤษภาคม 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
21 เม.ย. 2568
“กีฬา ... กีฬา ... เป็นยาวิเศษ” ส่วนหนึ่งของคำประพันธ์ที่นำมาร้องกันในสมัยก่อน หรืออาจจะร่วมถึงในยุคสมัยนี้ด้วยก็คงไม่ผิด และแน่นอนความหมายของนั้นก็คือ การเล่นกีฬา การออกกำลังกายนั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรคภัยของเรานั่นเอ...