ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าว ได้รับการเปิดเผยในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง แนวทางการสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลของไทย: จากปริมาณสู่คุณภาพ ซึ่งจัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ณ ห้องคริสตัล บอลรูม โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สีลม เมื่อเร็วๆ นี้
โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส และดร.เปาว์ไวโรจน์พันธ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้เผยผลการศึกษา “การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” ที่สำคัญว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 แต่ข้อจำกัดสำคัญในขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือ ประเทศไทยยังขาดกำลังคนทักษะสูงที่มีคุณภาพจำนวนมาก
ความท้าทายที่สำคัญของประเทศไทยคือ กำลังคนด้านดิจิทัลของไทยมีปริมาณมาก แต่กำลังคนที่มีคุณภาพสูงที่สามารถทำงานได้จริงมีปริมาณน้อย ทำให้ดูเหมือนประเทศไทยขาดกำลังคนด้านดิจิทัล โดยในปี 2560 มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เฉพาะสาขาคอมพิวเตอร์ เกือบ 20,000 คน (ไม่รวมผู้จบการศึกษาในสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น วิศวกรรมโทรคมนาคม) และมีผู้ว่างงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาคอมพิวเตอร์เกือบ 7,000 คน ขณะที่ความต้องการกำลังคนด้านดิจิทัลในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 14,000 คน และภาคธุรกิจมักสะท้อนปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้จริง
สาเหตุหนึ่งของสถานการณ์ดังกล่าวคือ หลักสูตรสาขาคอมพิวเตอร์ที่สอนอยู่ในปัจจุบันส่วนหนึ่ง ยังไม่ได้ปรับให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งบางหลักสูตรไม่ได้บรรจุวิชาหลักที่จำเป็นต่อการเป็นนักวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการเพิ่มกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ได้จริง ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับคุณภาพของกำลังคนด้านดิจิทัลอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ดี มาตรการสำคัญในการการยกระดับคุณภาพกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC คือ ภาครัฐควรดำเนินการเป็นโครงการนำร่อง (pilot project) โดยมีแนวทางดำเนินการในระยะสั้นคือ ภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ในการจัดโปรแกรมหรือหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) และภาครัฐควรส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรด้านดิจิทัลที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้จริง
และสุดท้าย ภาครัฐควรอำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาทำงานของนักวิชาชีพดิจิทัลที่มีทักษะสูงให้มากขึ้น เช่น มาตรการสมาร์ทวีซ่าของไทยในปัจจุบัน กำหนดให้นักวิชาชีพทักษะสูงที่มีเงินเดือนอย่างน้อย 2 แสนบาทจะได้วีซ่านาน 4 ปี ภาครัฐอาจพิจารณาปรับเงื่อนไขให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยกำหนดให้ผู้มีเงินเดือนอย่างน้อย 1 แสนบาทแต่ไม่ถึง 2 แสนบาท จะได้วีซ่านาน 2 ปีเป็นต้น
ส่วนในระยะยาว ต้องมุ่งปรับปรุงคุณภาพการศึกษาด้านดิจิทัล โดยสร้างกลไกให้ภาคเอกชนให้ข้อมูลทักษะกำลังคนที่ต้องการแก่สถาบันการศึกษา และภาคการศึกษาปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน รวมทั้ง ภาคการศึกษาควรจัดทำแผนปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและหลักสูตร ขยายโครงการนักศึกษาฝึกงาน และเพิ่มจำนวนอาจารย์ที่มีคุณภาพ และที่สำคัญภาครัฐต้องมุ่งส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างการวิจัยพัฒนาด้านดิจิทัล และการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลไปพร้อมๆ กัน