ทั้งนี้ นายพีรพันธ์ คอทอง รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังกระทรวงเกษตรฯ ได้บังคับใช้พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ระยะเวลา 7 เดือนนับจากวันที่ 23 กันยายน 2560 ที่ผ่านมาปรากฏว่า มีผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรจดแจ้งเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาเพิ่มขึ้นเป็น 159 ราย จากเดิม 90 ราย ครอบคลุมธุรกิจด้านทางการเกษตรทุกประเภท แบ่งเป็นด้านพืชจำนวน 103 ราย ด้านปศุสัตว์จำนวน 34 ราย ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจำนวน 11 ราย ด้านพืชและปศุสัตว์จำนวน 2 ราย นอกนั้นอีกจำนวน 9 ราย อยู่ในขั้นดำเนินจัดทำเอกสารจดแจ้งสู่ระบบ ซึ่งแต่ละรายส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงและความมั่นคงในการประกอบธุรกิจด้านการเกษตรมาอย่างยาวนาน เช่น กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล กลุ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์พืช กลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กลุ่มธุรกิจปศุสัตว์ เช่น ผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เป็นต้น จากข้อมูลดังกล่าวเป็นดัชนีชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความเจริญก้าวหน้าในอุตสาหกรรมเกษตรไทยที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต
นอกจากนี้ ยังได้เร่งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายเกษตรพันธสัญญาไปยังผู้ประกอบการรวบรวมผลไม้หรือล้ง เพื่อให้ผู้ประกอบการดังกล่าวได้ทบทวนพิจารณาธุรกิจของตนเองว่า เข้าข่ายการทำสัญญาระบบเกษตรสัญญาหรือไม่ ถ้าหากเข้าข่ายผู้ประกอบการเหล่านั้น จะต้องมาแจ้งการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญากับสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ หรือสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดในทันที ซึ่งปัจจุบันได้รับร้องเรียนปัญหาของล้งเข้ามา 2 กรณีหลักๆ คือ สัญญาที่ล้งทำกับเกษตรกรมีการเอาเปรียบ และสองล้งมาทำให้ระบบการผลิตสินค้าเกษตรเสียหาย ไม่มีการกำหนดสเปกคุณภาพของผลผลิตที่ชัดเจน ทำให้กระบวนการซื้อขายไม่เป็นไปตามกลไกตลาด กระทบต่อเศรษฐกิจการส่งออกสินค้าเกษตรไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงอยากผลักดันให้ล้งเข้ามาสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อจะได้ควบคุมล้งเข้าสู่ขบวนการผลิตที่มีคุณภาพและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
นายพีรพันธ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีการนำระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้ในกระบวนการผลิตผลิตผลบริการทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย หากส่งเสริมและพัฒนาตามหลักสากลจะช่วยสร้างความไว้วางใจความร่วมมือในระยะยาว โดยในส่วนของเกษตรกรจะมีความมั่นคงทางรายได้ ได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการควบคุมต้นทุนในการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร ที่สำคัญคือมีการป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก
ในขณะที่ผู้ประกอบการก็จะได้รับผลิตผลที่มีคุณภาพมาตรฐานตามระยะเวลาที่กำหนด แตกต่างจากในอดีตซึ่งสัญญามีลักษณะผสมผสาน มีความซับซ้อนและยุ่งยาก เกษตรกรรายย่อยมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าและมีความเสี่ยงในการปฏิบัติเงื่อนไข ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เชื่อมั่นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมเกษตรไทยมีความมั่นคง ยั่งยืน ตลอดจนยกระดับขบวนการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐานตามที่ตลาดภายในและต่างประเทศต้องการ
ทั้งนี้ ในรอบ 7 เดือน ที่กฎหมายได้ประกาศใช้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ใช้อำนาจกฎหมายในการเข้าไปไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในหลายกรณี พร้อมทั้งจะเข้มงวดในการเข้าไปตรวจสอบการทำสัญญาใหม่ระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้ทำจดหมายเวียนไปยังผู้ประกอบการทั่วประเทศที่มีความสนใจในการทำธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายเกษตรพันธสัญญาอย่างเข้มงวด เช่น ต้องจัดทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนก่อนการทำสัญญา หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดบทลงโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือแล้วแต่กรณี หากผู้ประกอบการมีพฤติกรรมเอาเปรียบเกษตรกรอย่างไม่เป็นธรรมและคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ทางราชการประกาศรายละเอียดของการฝ่าฝืนหรือพฤติกรรมของผู้ประกอบการดังกล่าวต่อสาธารณชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรมระหว่างคู่สัญญาในอนาคต
“ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ยังอยู่ระหว่างประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการทำธุรกิจเกษตรพันธสัญญาคาดว่าหลังประกาศใช้กฎหมาย 1ปี จะได้ตัวเลขที่ชัดเจนอีกด้วย” นายพีรพันธ์ กล่าว