“อาคม”หารือกัมพูชา เปิดเส้นทางรถไฟ อรัญ)-ปอยเปต-ศรีโสภณ-พระตะบอง-พนมเปญ พร้อมหารือโควตาเดินรถบรรทุกระหว่างกัน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงคมนาคมของไทยได้มีการหารือร่วมกับคณะผู้แทนรัฐมนตรีขนส่งกัมพูชา เพื่อแลกเปลี่ยนงานด้านโลจิสติกส์ โดยได้หารือถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือรถไฟเชื่อมจากอรัญประเทศ (ไทย)-ปอยเปต-ศรีโสภณ-พระตะบอง-พนมเปญ(กัมพูชา) โดยขณะนี้กัมพูชาเปิดเดินรถในฝั่งกัมพูชาแล้ว
ส่วนการเดินรถเชื่อมมายังฝั่งไทยนั้น อยู่ระหว่างรอจัดทำข้อตกลงการเดินรถระหว่างประเทศร่วมกับไทย ซึ่งขณะนี้ยังต้องเจรจาเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น เช่น การดูแล ซ่อมบำรุงกรณีรถเสีย ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะต้องไปหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกับฝ่ายกัมพูชา เพื่อนำข้อสรุปเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และเสนอต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้พิจารณาอนุมัติก่อนลงนามในข้อตกลงต่อไป
นายอาคม กล่าวด้วยว่า กัมพูชาได้ขอให้ฝ่ายไทยเร่งรัดทำข้อตกลงโดยเร็ว เพื่อให้สามารถเปิดเดินรถได้ช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีของไทยจะเดินทางไปร่วมเป็นประธานการเปิดเดินรถอย่างเป็นทางการ โดยฝ่ายไทยจะมอบรถไฟดีเซลรางให้กัมพูชา 1 ขบวน ซึ่งมี 3 ตู้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ความร่วมมือด้านการรถไฟระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาด้วย อย่างไรก็ตาม เวลานี้ในส่วนของไทยได้ทำการก่อสร้างสถานีรถไฟชั่วคราวขึ้นในจุดใกล้สะพานข้ามแดนไทย-กัมพูชา เนื่องจากสถานีอรัญประเทศจะอยู่ไกลจากชายแดนหลายกิโลเมตร ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการตรวจคนเข้าเมือง (immigration)
นายอาคม กล่าวต่อว่า กัมพูชายังให้ความสนใจดูงานที่ศูนย์ขนถ่ายสินค้าของไทย 3 แห่ง ที่พุทธมณฑล ร่มเกล้า และรังสิต เพื่อนำกลับไปพัฒนาพัฒนางานด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง เนื่องจากประสบปัญหา รถบรรทุกเข้าตัวเมืองทำให้เกิดปัญหารถติด นอกจากนี้ ยังได้เสนอขอเพิ่มเส้นทางการเปิดเดินรถโดยสารระหว่างประเทศมายังไทยสำหรับเส้นทางทั่วประเทศ ซึ่งฝ่ายไทยได้ตอบปฏิเสธยังไม่สามารถขยายเส้นทางเดินรถทั่วประเทศให้ได้ เพราะเป็นห่วงเรื่องของความปลอดภัยในการเดินทาง
อย่างไรก็ตาม ไทย-กัมพูชายังมีโครงการก่อสร้างโครงข่ายถนนเชื่อมโยงจุดผ่านแดนหนองเอี่ยน ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ประเทศไทย ไปถึงบ้านสตึงบท ต.ปอยเปต อ.โอโจรว จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ตลอดจนสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบริเวณชายแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อเชื่อมต่อเขตปอยเปตของประเทศกัมพูชา ระยะทาง 29.28 กิโลเมตร แบ่งเป็นสะพาน 4.7 กิโลเมตร ซึ่งคืบหน้าไปกว่า 50% แล้ว โดยเมื่อแล้วเสร็จจะทำเป็นจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเจรจาโครงการข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Agreement : CBTA) เชื่อมต่อการขนส่งข้ามแดน โดยอนุญาตให้แลกเปลี่ยนสิทธิจราจรในประเภทรถบรรทุกก่อนเพื่อขนส่งสินค้าข้ามแดนจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งได้ หรือข้ามไปประเทศที่ 3 โดยใช้เอกสาร เอกสารนำเข้าชั่วคราวสำหรับตู้คอนเทนเนอร์และรถบรรทุก (Temporary Admission Document) เนื่องจากทางกัมพูชาขอให้รถจากกัมพูชาสามารถวิ่งเข้าออกได้หลายด่านของไทย และขอให้วิ่งได้ทั่วประเทศ ซึ่งไทยไม่สามารถอนุญาตได้ ต้องมีการกำหนดเส้นทางวิ่งที่ชัดเจน เนื่องจากโครงข่ายถนนในไทยมีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับกัมพูชา ประกอบกับต้องคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงเป็นสำคัญ แต่หากกัมพูชายินยอมตามเงื่อนไขของไทยได้ก็จะสามารถเปิดให้วิ่งได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ในปี 2566-2570 ไทยวางโครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมโดยรถไฟ ไทย-กัมพูชา 6 โครงการ คาดมูลค่าการลงทุน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.32 แสนล้านบาท โดยไทยจะลงทุนในเขตพื้นที่ของไทย และเสนอให้กัมพูชาลงทุนในพื้นที่ของตัวเอง
โดยกัมพูชามีโครงการลงทุนเส้นทางรถไฟในแผนดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ภาครัฐของไทยเสนอให้กัมพูชาพัฒนาเส้นทางรถไฟที่สามารถเชื่อมพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกก่อน ทั้งนี้ กระบวนการเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะเป็นประตูเชื่อมโยง ลาว จีน และกัมพูชา เบื้องต้นได้พัฒนาเส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-พนมเปญ แล้ว แต่ยังห่างใจกลางเมืองพนมเปญราว 300 กิโลเมตร หากลงทุนเพิ่มเติมจะสามารถยกระดับการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศได้มากขึ้น โดยไทยตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2563
สำหรับความท้าทายในการค้าและการลงทุนของสองประเทศ คือการพัฒนาด้านคมนาคมและกฎระเบียบด่านชายแดนของทั้งสองประเทศต้องเชื่อมโยงกัน