เมื่อตอนที่แล้วได้นำความหมายของระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืนมานำเสนอ ซึ่งกการดำเนินนการจะมีทั้งความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางด้านสิ่งอวดล้อม และความยั่งยืนทางด้านสังคม รวมทั้งยังได้นำหลักการ 10 ประการของเกษตรกรรมยั่งยืนมากล่าวไว้ด้วย
สำหรับในตอนต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของรูปแบบกาทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ซึ่งจะมีด้วยกันถึง 9 รูปแบบ
............................................................................................
• รูปแบบการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน
ระบบการทำเกษตรกรรมยั่งยืนที่สำคัญๆ และเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
1. ระบบไร่หมุนเวียน
ระบบไร่หมุนเวียนเป็นระบบเกษตรกรรมพื้นบ้านที่ทำกันในหลายวัฒนธรรมในอดีต แต่ปัจจุบันพอจะหลงเหลือให้เห็นได้ในหมู่ชาวปะเกอญอ บนพื้นที่สูงทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย เป็นวิธีการเพาะปลูกพืชในพื้นที่หนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง โดยจะปลูกพืชแบบผสมผสาน ทั้งข้าว ผัก และพืชใช้สอยต่างๆ รวมกันในบริเวณพื้นที่เดียวกัน เมื่อทำการเพาะปลูกไประยะหนึ่งจนดินลดความอุดมสมบูรณ์ลง ก็จะย้ายไปทำการเพาะปลูกในพื้นที่ใหม่ และปล่อยให้ดินในพื้นที่เดิมได้ฟื้นความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ แล้วจึงหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เดิมนั้นอีกครั้ง จึงเป็นรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่สามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้ได้มากที่สุดระบบหนึ่ง แต่ในปัจจุบัน มีการทำไร่หมุนเวียนกันอย่างผิดวิธีจนทำให้ระบบเกษตรกรรมวิธีนี้ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการทำเกษตรกรรมแบบ ไร่เลื่อนลอย ที่ไปตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำบนที่สูง
ถึงแม้ระบบไร่หมุนเวียนจะต้องมีพื้นที่เพื่อทำการเกษตรหลายแห่งให้หมุนเวียนไปใช้ก็ตาม แต่ถ้าเกษตรกรที่ทำการเกษตรด้วยระบบนี้มีเกณฑ์คุณค่าและวิถีวัฒนธรรมการดำรงชีวิตที่เคารพและนอบน้อมต่อธรรมชาติแล้ว ระบบไร่หมุนเวียนจะเป็นระบบการฟื้นฟูดินเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการผลิตอาหาร พร้อมไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในเวลาเดียวกัน ระบบไร่หมุนเวียนที่ถูกหลักการจึงจัดเป็นวิธีทำการเกษตรที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และเคารพธรรมชาติอย่างมากวิธีหนึ่ง และไร่หมุนเวียนที่ทำกันอยู่โดยชุมชนชาวไทยบนภูเขาทางภาคเหนือ ก็ได้พิสูจน์ตัวเองได้ระดับหนึ่ง ว่าสามารถเป็นระบบการเกษตรแบบยั่งยืนได้ “ถ้าดำเนินไปตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดกันมา”
2. ระบบเกษตรผสมผสาน (Integrated farming)
ระบบเกษตรผสมผสานหมายถึงระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยที่กิจการรมการผลิตแต่ละชนิดเอื้อประโยชน์กันและกัน และเกื้อกูลกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยหลักการอยู่รวมกันระหว่างพืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม การอยู่รวมกันอาจจะอยู่ในรูปความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับพืช พืชกับสัตว์ หรือสัตว์กับสัตว์ก็ได้ ระบบเกษตรผสมผสานจะประสบผลสำเร็จได้ จะต้องมีการวางรูปแบบและดำเนินการ โดยให้ความสำคัญต่อกิจกรรมแต่ละชนิดอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม มีการใช้แรงงาน เงินทุน ที่ดิน ปัจจัย การผลิตและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรู้จักนำวัสดุเหลือใช้จากการผลิตชนิดหนึ่งมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์กับการผลิตอีกชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดภายในไร่นาแบบครบวงจร
เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างเหมาะสมและให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีการประสานเกื้อกูลกันระหว่างพืชและสัตว์ เศษซากและผลพลอยได้จากทั้งพืชและสัตว์สามารถเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมของอีกฝ่ายหนึ่งได้ เช่น การเลี้ยงปลาในนาข้าวที่ได้ผลผลิตทั้งข้าวและปลาโดยไม่ต้องใช้สารเคมี การเลี้ยงไก่หรือสุกรบนบ่อปลาทำให้ได้อาหารปลาจากเล้าไก่หรือสุกร หรือการเลี้ยงผึ้งในสวนผลไม้ที่ได้ทั้งน้ำผึ้งและมีผึ้งช่วยผสมเกษรดอกไม้ เป็นต้น นอกจากมีการผสมผสานการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์อย่างหลากหลายแล้ว ยังมีการจัดการผลผลิตการเกษตรที่คำนึงถึงการตลาดด้วย
3. ระบบไร่นาสวนผสม (Mixed/Diversefied/Polyculture Farming)
ระบบไร่นาสวนผสมเป็นระบบเกษตรกรรมที่มีกิจกรรมการผลิตหลายๆ ชนิดเพื่อตอบสนองการบริโภคหรือลดความเสี่ยงจากราคาตลาดของผลผลิตที่มีความไม่แน่นอน โดยไม่มีการจัดการให้กิจกรรมการผลิตเหล่านั้นมีการผสมผสานเกื้อกูลกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนไม่ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อมเหมือนเกษตรผสมผสาน การทำไร่นาสวนผสมในระยะแรกๆ อาจมีการเกื้อกูลกันจากกิจกรรมการผลิตบ้าง แต่กลไกการเกิดขึ้นเป็นแบบ เป็นไปเอง ไม่ได้เกิดจากการตั้งใจจัดการด้วยความรู้ความเข้าใจ แต่ในระยะหลังๆ เมื่อเกษตรกรเริ่มมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ก็เริ่มมีการวางแผนการใช้พื้นที่และเลือกพืชที่จะปลูกเพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งเกิดผลพลอยได้ มีจุดขายให้เป็นเป้าหมายของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอีกด้วย
4. ระบบไร่นาป่าผสมหรือวนเกษตร (Agro Forestry)
ระบบไร่นาป่าผสมหรือวนเกษตรเป็นระบบเกษตรกรรมที่นำเอาหลักการความยั่งยืนถาวร ภาพของระบบป่าธรรมชาติมาเป็นแนวทางในการทำการเกษตร และมีการจัดองค์ประกอบการผลิตทางการเกษตรให้รวมหลากหลายชนิดของพืชและสัตว์อย่างเหมาะสมและสมดุล คำว่า วนเกษตร มาจากคำว่า วน ที่หมายถึง ป่าที่มีความหลากหลายของทรัพยากรที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต และคำว่า เกษตร ที่หมายถึง การใช้ที่ดินในการผลิตพืชหรือสัตว์ เช่น การเพาะปลูกพืช การทำป่าไม้ ประมง ปศุสัตว์ต่างๆ ดังนั้น วนเกษตร จึงหมายถึงการใช้ที่ดินในการผลิตพืชและสัตว์ให้มากชนิด หรือมีความซับซ้อนและหลากหลายทางชีวภาพใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เป็นการทำเกษตรร่วมกับการอนุรักษ์ป่าไม้ โดยมีรากฐานหรือปัจจัยการผลิตที่มาจากท้องถิ่นเอง ทั้งนี้ การทำวนเกษตรจะมีลักษณะแตกต่างหรือผันแปรไปตามสภาพท้นที่ รวมถึงทัศนคติ ความเชื้อ วัฒนธรรม ประเพณี และความรู้ ความสามารถในการจัดการของแต่ละท้องถิ่นเอง
ระบบวนเกษตรที่ดีควรสามารถเพิ่มการซึมซับน้ำ รักษาน้ำใต้ดินลดการสูญเสียดิน โดยให้ความสำคัญอย่างสูงกับการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล และไม้ใช้สอยต่างๆ ให้เป็นองค์ประกอบหลักของพื้นที่ปลูก และผสมผสานกับการปลูกพืชที่ไม่ต้องการแสงแดดมากในชั้นถัดลงมา ซึ่งจะได้อาศัยร่มเงาและความชื้นจากการที่มีพืชชั้นบนขึ้นปกคลุม ลักษณะพันธุ์พืชที่ใช้ควรเป็นทรงพุ่มเพื่อลดความรุนแรงของเม็ดฝนที่ตกกระทบผิวดิน สามารถรักษาสภาพสมดุลของสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกร่วม เช่น บังร่มเงา พายุ ฝน รวมทั้งควบคุมสภาพความชุ่มชื้นและอุณหภูมิ เป็นต้น
พันธุ์ไม้ที่ปลูกควรมีรากลึกพอที่สามารถหมุนเวียนธาตุอาหารในระดับที่ลึกขึ้นมาสู่บริเวณผิวดิน เป็นประโยชน์ต่อพืชรากตื้นที่ปลูกร่วม โดยรวมทั้งระบบควรให้ผลตอบแทนแก่เกษตรกรหลายด้าน เช่น ผลผลิตในรูปอาหาร ยารักษา โรค ไม้ฟืน ไม้สร้างบ้านและรายได้ สิ่งสำคัญที่สุดควรเป็นระบบที่อนุรักษ์ดินและน้ำได้ดี ปลูกได้หลายสภาพแวดล้อม และง่ายต่อการปฏิบัติในสภาพของเกษตรกร วนเกษตรที่พอประยุกต์ใช้ในประเทศไทยมีอยู่ 3 ระบบใหญ่ คือ ระบบป่าไม้-ไร่นา ระบบป่าไม้-เลี้ยงสัตว์ และระบบเลี้ยงสัตว์-ไร่นา-ป่าไม้ ซึ่งวีธีการนำแต่ละระบบไปประยุกต์ใช้ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่เป็นเกณฑ์
ในอดีต นักวิชาการและหน่วยงานด้านป่าไม้เคยใช้คำว่า วนเกษตร ในความหมายของการทำป่าไม้ผสมผสานร่วมกับการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เป็นการจัดการป่าไม้เป็นหลักร่วมกับการเกษตรทุกแขนง อาจเป็นการปลูกพืชเกษตรในสวนป่า หรือการปลูกพืชเกษตรร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ในสวนป่า และถือเป็นทางออกที่ประณีประนอมสำหรับความขัดแย้งระหว่างความต้องการที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมและความต้องการป่าไม้เพื่อควบคุมสิ่งแวดล้อม ทำให้วิถีของคนและป่าสามารถดำเนินควบคู่กันไปโดยคำนึงถึงสภาพทางสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรที่เกี่ยวข้อง แต่แนวคิดและการดำเนินการตามรูปแบบดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมและแพร่หลายนัก เพราะข้อจำกัดของระบบราชการและกรอบคิดที่พ่วงกับการจัดการป่าไม้แบบตะวันตก
มาภายหลังระบบวนเกษตรตามที่เข้าใจกันในปัจจุบันได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางในสังคมไทยจากการริเริ่มบุกเบิกแนวคิดโดยผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เมื่อปลายทศวรรษ 2520 ซึ่งตัดสินใจขายที่ดินส่วนใหญ่เพื่อปลดแอกหนี้สินที่ท่วมตัวจากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเพื่อการขาย แล้วแปรสภาพที่ดินที่เหลือไม่ถึง 10 ไร่ ซึ่งเป็นไร่มันสำปะหลังให้เป็นระบบวนเกษตร ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล และพืชสมุนไพรผสมผสานกัน โดยดำเนินชีวิตตามวิถีที่พึ่งพาตัวเองจากผลผลิตในที่ดิน
(อ่านต่อฉบับหน้า)