ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ “เชียงราย” กำลังจะมีแหล่งท่องเที่ยวแนวปรัชญาพุทธศิลป์เพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือไปจากวัดร่องขุ่น ที่เป็นผลงานรังสรรค์ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และบ้านดำ ของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี สองศิลปินแห่งชาติชื่อดังของเชียงราย ซึ่งล้วนแต่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วสารทิศ
ล่าสุดที่วัดร่องเสือเต้น ชุมชนร่องเสือเต้น ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย ได้มีการก่อสร้างพระวิหารหลังใหม่ภายในวัด ซึ่งมีศิลปะที่มีความสวยงามแปลกตาด้วยศิลปะประยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดยใช้เฉดสีเป็นสีน้ำเงิน-ฟ้า รูปแบบของศิลปะส่วนหนึ่งมีความคล้ายกับผลงานของอาจารย์เฉลิมชัย และอาจารย์ถวัลย์ โดยเฉพาะพระวิหารตั้งแต่ผลงานประติมากรรมพญานาคที่ใช้เฉดสีเดียวกันนั้นมีความชดช้อย และลวดลายแตกต่างจากประติมากรรมทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ภายในนอกจากจะมีลวดลายที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์เช่นเดียวกันแล้ว ยังมีผลงานจิตรกรรมที่เป็นภาพวาดฝาผนังเกี่ยวกับพระพุทธประวัติหน้าพระประธาน เป็นพระสิงห์หนึ่งสีขาว สูง 6.50 เมตร หน้าตักกว้าง 5 เมตร
โดยผลงานทางศิลปะที่วัดร่องเสือเต้นแห่งนี้เป็นฝีมือของ “สล่านก หรือนายพุทธา กาบแก้ว” ศิลปินท้องถิ่นชาวเชียงราย ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เฉลิมชัย และเคยทำงานสร้างวัดร่องขุ่นเมื่อหลายปีก่อน ที่กำลังนำทีมงานมาร่วมกันรังสรรค์วิหารวัดร่องเสือเต้นอย่างขะมักเขม้น เพื่อให้ทันกำหนดทำบุญเฉลิมฉลองพระวิหารใหม่ ระหว่างวันที่ 19-22 ม.ค. 59 ต่อไป
“สล่านก หรือนายพุทธา” ให้นิยามพระวิหารแห่งนี้ว่า เป็นทิพยสถาน คือเป็นการสรรเสริญพระพุทธเจ้าทั้งในรูปแบบของประติมากรรมและจิตรกรรม เมื่อคนเข้าไปมีจิตใจดีก็จะรักษาศีลก่อให้เกิดสมาธิและปัญญาตามมา
นายพุทธา กล่าวว่า ศิลปะที่ใช้ก่อสร้างวัดร่องเสือเต้นเรียกว่าเป็นศิลปะประยุกต์ ซึ่งตนได้ศึกษาร่ำเรียนมาตั้งแต่อยู่กับอาจารย์เฉลิมชัย และเคยเข้าไปทำงานที่วัดร่องขุ่น
โดยจะสังเกตเห็นได้จากลวดลายต่างๆ ที่พลิ้วไหวนั้น ตนเรียนรู้มาจากผลงานของอาจารย์ แต่ของอาจารย์เฉลิมชัยจะใช้โทนสีขาว และมีการใช้กระจก แต่ของตนดัดแปลงมาเป็นการใช้สีน้ำเงิน-ฟ้าแทน เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์
ขณะเดียวกัน ที่วัดร่องขุ่นนั้นอาจารย์เฉลิมชัยมีความรู้ความสามารถมาก โดยสามารถทำเป็นลวดลายที่ละเอียดมากภายใต้ปริมาตรที่เยอะ ซึ่งเราคงไม่ถึงขั้นนั้น ดังนั้นจึงได้ใช้การกรีดลายให้พลิ้วไหว และบางจุดก็ใช้การประยุกต์ให้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ส่วนที่เป็นฟันพญานาคนั้น ตนนำมาจากผลงานของอาจารย์ถวัลย์ โดยอาจารย์ถวัลย์ จะมีความโดดเด่นเรื่องเขา และงาที่โค้งงอสวยงาม ตนก็ทำให้มีความแหลมมากขึ้น
“ผมจบวิชาเอกศิลปศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย แต่ก่อนจะเรียนจบและมีงานวัน 25 ปีมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสพบเจอกับอาจารย์เฉลิมชัย เมื่อผมนำแสดงผลงานรูปปั้นไปจัดแสดง ทำให้อาจารย์เรียกให้ไปช่วยงานที่วัดร่องขุ่นตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ และเมื่อผมจบการศึกษาเมื่อปี 2544 ก็ยังคงทำงานที่วัดร่องขุ่น กระทั่งปี 2546 จึงได้ออกมาทำงานเอง”
สล่านกบอกว่า ผลงานที่ทำขึ้นที่วัดร่องเสือเต้นครั้งนี้ นอกจากจะได้จากการปรึกษาหารือกับทางพระทนงศักดิ์ กตสาโร เจ้าอาวาสวัดฯ ที่ร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างแล้ว ยังอาศัยคำสอนจากอาจารย์เฉลิมชัย ที่พร่ำสอนว่า “การที่จะทำงานให้พระพุทธศาสนานั้นจะต้องขยัน เอาใจใส่ และมีจินตนาการมากกว่าคนอื่นจึงจะประสบความสำเร็จ” จึงได้พยายามรังสรรค์ผลงานนี้เพื่อเป็นการสรรเสริญอาจารย์ไปพร้อมๆ กันด้วย