ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 68 เวลา 10.00 น. น.สพ.ชาติชาย ยิ้มเครือ ปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วย นายวิโรจน์ ฤทธิ์ฤาชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เพชรบุรี นายธนเดช ทองธนบดีกุล นายกเทศมนตรีตำบลท่าไม้รวก และนายประชุม เกตุพยัคฆ์ ปศุสัตว์อำเภอท่ายาง ลงพื้นที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านท่ากระทุ่ม ม.7 ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยมี นางสาวสุนิสา นามเมือง เป็นประธานกลุ่ม ที่มีสมาชิก 21 ราย เลี้ยงโคเนื้อรวม 500 ตัว ซึ่งปลูกแปลงหญ้าเนเปียร์ ด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่สมัยใหม่ ในพื้นที่ 1,000 ไร่ ทำให้มีผลผลิตเฉลี่ย 20 ตัน/ไร่ เก็บเกี่ยว 6 รอบ/ปี รวมผลผลิตประมาณ 120 ตัน/ปี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านท่ากระทุ่ม ได้ใช้เครื่องจักร ตัดหญ้าเนเปียร์ในแปลงสับละเอียด และใช้เครื่องจักรอัดหญ้า แรปหญ้าให้เป็นก้อน น้ำหนัก 60 กิโลกรัม/ก้อนและบรรจุถุงดำ น้ำหนัก 25 กิโลกรัม/ถุง เพื่อผลิตเป็นหญ้าหมัก ถนอมอาหารสัตว์ ให้คงคุณค่าอาหารและเก็บไว้ได้นาน 1-6 เดือน เพื่อใช้เลี้ยงโคของสมาชิกและขายทั่วไป เจ้าหน้าที่ได้เสริมสร้างองค์ความรู้ในการปลูกหญ้าให้เป็นไปตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหารสัตว์ ( GAP )
เพื่อให้ได้พืชอาหารหยาบที่มีคุณภาพสูง เหมาะสมต่อการนำไปเลี้ยงสัตว์ พร้อมกันนี้ยังได้เชื่อมโยงการตลาด เพิ่มช่องทางการขายหญ้าหมักให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งอาหารหยาบคุณภาพสูง ลดต้นทุนการขนส่ง ทำให้ลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์และลดปัญหาการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ในหน้าแล้ง สร้างความมั่นคงด้านอาหารสัตว์อย่างยั่งยืน สำหรับหญ้าเนเปียร์ ชอบดินที่มีการระบายน้ำได้ดี มีความอุดมสมบูรณ์สูง เติบโตเร็ว สูงเต็มที่ประมาณ 4 เมตร ตอบสนองต่อปุ๋ยได้ดี มักไม่มีโรคและแมลงรบกวน สามารถปลูกหญ้า ตัดให้สัตว์กินสด หรือนำมาทำหญ้าหมักเป็นอาหารหยาบคุณภาพสูง เลี้ยงสัตว์ได้หลายชนิด ได้แก่ โคนม โคเนื้อ กระบือ แพะ แกะ
เจ้าหน้าที่แนะนำให้ตัดหญ้าครั้งแรก เมื่ออายุ 60-90 วันหลังปลูกและตัดครั้งต่อไปทุกๆ 60-90 วัน ปีละ 5-6 ครั้ง จะให้ผลผลิตประมาณ 30 -40 ตันต่อไร่ต่อปี และให้ผลผลิตต่อเนื่องประมาณ 8-9 ปี หญ้าที่เก็บเกี่ยว อายุ 60 -70 วัน จะมีโปรตีนสูง ร้อยละ 8-10 เกษตรกรนิยมนำหญ้าเนเปียร์ มาผลิตเป็นหญ้าหมัก เพื่อถนอมหญ้าให้สามารถเก็บได้เป็นเวลานาน โดยการหั่นให้มีขนาด 2-3 ซม. บรรจุในภาชนะหมัก อัดให้แน่น เพื่อไล่อากาศออกให้มากที่สุด จากนั้น ปิดภาชนะ เก็บทิ้งไว้ 3-4 สัปดาห์ จะได้หญ้าหมักที่สมบูรณ์ สามารถเปิดและนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้
@ครอบครัวปศุสัตว์
“ทำด้วยใจ ทำให้ไว ทำได้จริง”
#กรมปศุสัตว์
สมเกียรติ ทรัพย์เฉลิม หน.ข่าวภูมิภาค
0816235473