"เกษตร-มหาดไทย" ปูพรม เกษตรอินทรีย์ 5 ล้านไร่ เร่งพัฒนา 56 จังหวัด ชี้เป้าหมายรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรทั่วประเทศ คาด 3 ปีเห็นผลสำเร็จ
โดยเมื่อไม่นานมานี้ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดการประชุมขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ซึ่งมีทุกหน่วยงานเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ รายจังหวัดลงระดับพื้นที่ ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ
นายวิวัฒน์ กล่าวว่าจะเร่งรัดดำเนินการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ให้เป็นทางเลือกที่มีศักยภาพส่งเสริมการผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในเชิงปฎิบัติการของยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่ โดยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากเดิม ไปสู่ระบบการผลิตตามแนวทางของเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรทฤษฎีใหม่ หรืออื่น ๆ เช่น พุทธเกษตร
"ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายให้ได้ ซึ่งส่วนสำคัญคือการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในระดับจังหวัด ขยายผลครอบคลุมทั้ง 13 กลุ่มจังหวัด 56 จังหวัด ภายใต้การกำกับติดตามการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อพก.) ได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานจากยึดหน่วยงาน มาเป็นการยึดพื้นที่เป็นหลักแต่ละจังหวัดเป็นเจ้าภาพประสานงานกันหน่วยงานส่วนกลาง และพื้นที่ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม และเอกชน ร่วมกันชี้เป้าหมายในการรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ จากเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ " นายวิวัฒน์ กล่าว
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า การส่งเสริมให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีและมีฐานะที่ดีขึ้น เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ด้วยนโยบายที่หลากหลายและมาตรการต่างๆ ทำให้เกิดความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนหนึ่งในนั้นคือ การพัฒนาคุณภาพสินค้าทางการเกษตรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เกิดการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงเป็นที่มาของการวางแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 หรือ การส่งเสริมสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าปลอดสารพิษ ดำเนินการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่ต้องพึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดมูลค่าและประโยชน์สูงสุดในการสร้างสินค้าการเกษตร
ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้บรรลุเป้าหมายอาจสำเร็จได้ยาก หากขาดการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ ซึ่งการขับเคลื่อนในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพนั้นต้องดำเนินการในระดับจังหวัด ผ่านการสั่งการโดยผู้ว่าราชการจังหวัดในการประสานเชื่อมโยงบูรณาการทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นร่วมกันในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของแต่ละจังหวัด ขยายผลครอบคลุมทั้ง 13 กลุ่มจังหวัด 56 จังหวัด ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันชี้เป้าหมายในการรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ และมีส่วนร่วมในการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรผู้ทำการผลิตเกษตรอินทรีย์