นายเทพศักดิ์ ฐิตะรักษา ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พร้อมด้วย นายสุชัย สกุลรุ่งเรืองชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตวัฒนา สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 19 และตัวแทนชุมชนนานาเหนือ ลงพื้นที่พร้อมร่วมเปิดโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินถนนนานาเหนือ เพื่อเชื่อมต่อโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินเพิ่มศักยภาพระบบไฟฟ้าในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ณ โรงแรมบูเลอวาร์ด กรุงเทพฯ ถนนสุขุมวิท
ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า ตามที่ กฟน. ได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลด้วยการดำเนินการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา เพิ่มเสถียรภาพ และความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าให้มีความเพียงพอ มั่นคง ตลอดจนการเตรียมพร้อมรองรับความต้องการไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เสริมสร้างทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครให้มีความสวยงาม และเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน เดินหน้าเข้าสู่การเป็นมหานครแห่งอาเซียน ซึ่งในครั้งนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ ถนนนานาเหนือ รวมระยะทางประมาณ 0.75 กิโลเมตร ตั้งแต่แยกนานาถึงสะพานข้ามคลองแสนแสบ มีระยะดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2561 รวมระยะเวลา 6 เดือน ภายใต้งบประมาณ 29.7 ล้านบาท
สำหรับ ถนนนานาเหนือ ถือเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว มีความหนาแน่นด้านการจราจร และร้านค้าที่เปิดให้บริการในช่วงกลางคืน มีความซับซ้อนทางกายภาพ ซึ่งทำให้ต้องดำเนินการอย่างรัดกุม โดยมีแผนดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไปในช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. ของทุกวัน และเพื่อการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการภาคธุรกิจ นักท่องเที่ยว ชุมชน ประชาชนในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ กฟน. จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ เช่น ธนาคาร โรงแรม และร้านอาหาร รับทราบการดำเนินการโครงการฯ รวมถึงวันนี้ได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน พร้อมรับฟังปัญหาเพื่อนำไปแก้ไขเพื่อลดผลกระทบระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัญจรผ่านบริเวณทางเท้าในถนนดังกล่าว ซึ่ง กฟน. ได้จัดให้มีศูนย์ประสานงานในบริเวณพื้นที่ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ
ในด้านวิธีการก่อสร้างเพื่อนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินครั้งนี้ กฟน. ได้ใช้วิธีการขุดเปิด – ฝังกลบ ทางเท้า (Open Cut) และวิธีการดึงท่อลอดถนน (Horizontal Directional Drilling หรือ HDD) สำหรับนำสายไฟฟ้าแรงต่ำขนาด 230 / 400 โวลต์ ลงใต้ดิน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย สายไฟฟ้าใต้ดินมีความคงทนแข็งแรงใช้วัสดุฉนวนหุ้มกันน้ำและกันไฟฟ้ารั่ว ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบแม้จะเกิดน้ำท่วมขัง ในส่วนของสภาพพื้นที่ขุดเจาะนั้นหลังจากการก่อสร้างสำเร็จจะมีการปรับพื้นผิวทางเท้าให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนดของกรุงเทพมหานคร เพื่อความปลอดภัยในการใช้พื้นที่สาธารณะของประชาชน และทัศนียภาพที่สวยงาม
ทั้งนี้ โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. ได้ดำเนินการรวมระยะทาง 214.6 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2564 โดยแบ่งเป็น โครงการที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 45.6 กิโลเมตร โครงการที่อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการ 41.7 กิโลเมตร และโครงการที่อยู่ในแผนรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน 127.3 กิโลเมตร โดย กฟน. มีแผนที่จะโครงการที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างต่อไปในพื้นที่ถนนพระราม 3 ระยะที่ 2 (ช่วงสะพานพระราม 9 ถึงบริเวณสะพานกรุงเทพฯ ) และโครงการถนนวิทยุ ที่ถือเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีความสำคัญ เป็นที่ตั้งของสถานทูต ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศอีกด้วย