นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. กล่าวว่า ธนาคารมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยโดยเฉพาะในชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก หนึ่งในชุมชนที่ธนาคารได้เข้าพัฒนา คือ บ้านบากชุม ตำบลโนนก่อ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี มีวิถีชีวิตผูกติดกับแม่น้ำ มีชื่อเสียงด้านการผลิตชุดเฟอร์นิเจอร์ไม้ใต้น้ำชิ้นใหญ่ โดยไม้ที่นำมาผลิตส่วนใหญ่ คือ ไม้สัก ไม้พะยูง ไม้มะค่า ไม้ตะเคียน ไม้แคน ไม้ยาง ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นซากไม้เก่าจมอยู่ใต้น้ำในเขื่อนสิรินธร เมื่อนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ จึงมีความแข็งแรง คงทน ลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ และมีชิ้นเดียวในโลก
อย่างไรก็ตาม จากการประเมิน คาดว่าอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า วัตถุดิบซากไม้ชิ้นใหญ่ที่จมอยู่ใต้น้ำ มีแนวโน้มลดลง และหมดในที่สุด อีกทั้ง ในกระบวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์ จะเหลือเศษไม้ชิ้นเล็กๆ ถูกตัดทิ้งจำนวนมาก ที่ผ่านมา ชาวบ้านนำไปเผาทิ้งเปล่าประโยชน์ หรือขายเป็นถ่านไม้ราคาถูก ธนาคารเข้าไปส่งเสริมและพัฒนาเทคนิคนวัตกรรมให้ชาวบ้าน พลิกโฉมผลิตชิ้นงานรูปแบบใหม่ ดังนั้น จึงเกิดนวัตวิถีงานเฟอร์นิเจอร์ของชุมชนบ้านบากชุม เน้นงานไม้ขนาดเล็กลง แต่มูลค่าสูง มีความหลากหลาย สะดวกต่อการขนส่ง เหมาะที่นักท่องเที่ยวจะซื้อกลับไปเป็นของฝากเมื่อมาท่องเที่ยวชุมชนบ้านบากชุม เช่น กรอบรูป กระถางต้นไม้ ตุ๊กตา จาน-ชาม โคมไฟ และงานไม้แกะสลักประดับตกแต่งบ้าน เป็นต้น
นายมงคล กล่าวต่อว่า แนวทางส่งเสริมจะเติมความรู้แก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องดีไซน์ เพื่อให้สินค้ามีความทันสมัย ผ่านการจัดอบรม โดยนำคณะอาจารย์ที่มีความรู้ด้านการตลาดและดีไซน์ จากคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มาจัดอบรมต่อยอดใส่ไอเดียเกิดเป็นเฟอร์นิเจอร์รูปแบบใหม่ทันสมัย ควบคู่กับช่วยขยายตลาดผ่านออนไลน์ ส่งผลให้สินค้าไม้จากบ้านบากชุมได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ ขายได้มูลค่าเพิ่ม บางชิ้นราคาหลักแสนบาท สามารถขยายกลุ่มลูกค้ากว้างขวาง เช่น โรงแรม และรีสอร์ท เป็นต้น เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับ 120 ครัวเรือนในบ้านบากชุม กว่า 40-50 ล้านบาทต่อปี และที่สำคัญยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชนอีกด้วย ตอบโจทย์การเป็นชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงเป็นการนำเอาวิถีชีวิตชุมชน ใส่นวัตกรรมการผลิต เป็นนวัตวิถีที่เพิ่มมูลค่าสินค้าแก่ชุมชนได้อีกโมเดลหนึ่งที่หยิบยกเป็นตัวอย่าง
“ธนาคารจัดทีมพัฒนาผู้ประกอบการลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ สอบถามถึงความต้องการของชุมชนในมิติต่างๆว่าต้องการรับความช่วยเหลือด้านใด เช่น การให้ความรู้พัฒนาดีไซน์สินค้าให้โดดเด่น นำเหล็ก อะคริลิก กระจก ใส่สีสันลงในวัสดุ ตลอดจนวัสดุทดแทนเข้ามาเชื่อมต่อทำให้ชิ้นงานมีความแปลกตา ผู้ผลิตสามารถปรับราคาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3-5 เท่า และยังเจาะตลาดระดับบนไปถึงส่งออก ด้วยการนำเครื่องจักรมาช่วยผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งธนาคารมีเงินทุนหมุนเวียนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยถูกไว้รองรับ และสิ่งที่ขาดไม่ได้ ธนาคารเข้าไปแนะนำเรื่องการทำบัญชีเพื่อให้ทราบถึงต้นทุนที่แท้จริง เราพบว่าชาวบ้านมักไม่นำต้นทุนค่าสั่งซื้อซากไม้จากกลุ่มดำน้ำมาคำนวณด้วย ทำให้ตั้งราคาขายต่ำกว่าที่ควรจะเป็นจริง” นายมงคล กล่าว
ด้าน น.ส. ธนัญญา มะเอียง ตัวแทนกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้ใต้น้ำเขื่อนสิรินธร บ้านบากชุม ตำบลโนนก่อ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า การที่ ธพว. ลงพื้นที่โดยมีนักวิชาการมาให้ความรู้ด้านออกแบบและตลาด ช่วยเปิดแนวคิดให้ชาวบ้านต่อยอดพลิกโฉมผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมสู่รูปแบบใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่มองเศษไม้ที่เหลือจากการทำเฟอร์นิเจอร์ว่าไร้ประโยชน์ รวมถึง กระตุ้นให้ชาวบ้านตื่นตัว มองเห็นโอกาสขยายตลาดกลุ่มใหม่ ทำผลิตภัณฑ์ตอบความต้องการของลูกค้ากลุ่มโรงแรม และรีสอร์ท เช่น ชั้นวางทีวี ชั้นวางสิ่งของติดผนัง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การต่อยอดผลิตภัณฑ์นั้น ทางกลุ่มผู้ผลิตต้องการเงินทุนเพื่อใช้หมุนเวียนซื้อวัตถุดิบและเครื่องจักร ธพว. เข้ามาเติมเต็มสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยถูก พร้อมส่งเสริมการตลาด ช่วยลดปัญหาถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาสินค้า และช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชนอีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อได้รับการพัฒนาความรู้แล้ว ธพว. เสริมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยถูก เพื่อให้ลงทุนปรับปรุงกิจการ ซื้อเครื่องจักร และเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อสำหรับนิติบุคคล เช่น สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 โดยกระทรวงอุตสาหกรรม คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ (แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม) และ สินเชื่อสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เช่น สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 3 ปีแรก สำหรับธุรกิจเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว/ท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น โดยธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ของบ้านบากชุม เข้าองค์ประกอบสามารถยื่นกู้เป็นเงินทุนต่อยอดทั้งซื้อเครื่องจักรและใช้ขยายตลาด โดยผลสำเร็จในการเข้าพัฒนาดังกล่าวจะถูกใช้เป็นต้นแบบเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไป