นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และมร. หู กัง หัวหน้าฝ่ายขายกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด ร่วมเปิด “ศูนย์นวัตกรรม กฟภ. (PEA Innovation Center)” ศูนย์พัฒนาและวิจัยด้านไฟฟ้าด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีอันทันสมัยแห่งแแรกขึ้นอย่างเป็นทางการในประเทศไทย
นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าว ว่า ศูนย์นวัตกรรม กฟภ. แห่งนี้เป็นการหลอมรวมประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่สั่งสมมายาวนานของ กฟภ. เข้ากับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีไอซีที ความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาของหัวเว่ย เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มอันล้ำสมัยที่มีการบูรณาการในด้านการวิจัยและการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ และเทคโนโลยีคลาวด์ต่าง ๆ ในภาคพลังงานไฟฟ้า ช่วยให้เราสามารถบริหารงานโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะและพัฒนาประสิทธิภาพด้านการให้บริการ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนลงได้ นอกจากนี้ ศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการฝึกอบรมบุคลากรด้านไอซีทีในภาคพลังงานไฟฟ้าและเผยแพร่เทคโนโลยีด้านสมาร์ทกริดในประเทศไทยออกไปในอนาคตด้วย
มร. หู กัง หัวหน้าฝ่ายขายกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของหัวเว่ย กล่าวแสดงความยินดีที่ได้เห็นศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดีจากการร่วมมือกับ กฟภ. เพื่อส่งเสริมและเป็นจุดเริ่มต้นของศึกษาและวิจัยการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย และขยายออกสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หัวเว่ยภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการอันยิ่งใหญ่นี้ โดยเราจะมุ่งมั่นทุ่มเททำงานร่วมกันเพื่อระดมแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีไฟฟ้าเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สู่คนไทยทุกคน
ศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือระยะยาวระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับโครงการนำร่องนี้ หัวเว่ยได้ติดตั้งโซลูชั่นเทคโนโลยีไอซีทีอันทันสมัยขึ้นภายในศูนย์ฯ ดังกล่าว โดยเฉพาะเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) และคลาวด์ ที่มีการประยุกต์ใช้สำหรับภาคพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้ กฟภ. สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไอซีทีชั้นนำ โดยหัวเว่ยให้การสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์ สำหรับการพัฒนาและติดตั้งเทคโนโลยี Single IoT Platform ที่เกิดจากการผสานโครงข่ายสองโครงข่าย คือ PLC-IoT และ eLTE-IoT เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพและความน่าเชื่อถือของระบบและบริการด้านไฟฟ้าของกฟภ. เช่น ช่วยในการเข้าถึงและปรับสมดุลระบบโครงข่ายไฟฟ้า (เพาเวอร์กริด) ได้แบบเรียลไทม์ ปรับปรุงการใช้ไฟฟ้าและการประหยัดพลังงานไฟฟ้าอย่างเหมาะสม รวมไปถึงระบบการใช้มิเตอร์วัดการใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ AMI (Advanced Metering Infrastructure)
มิเตอร์วัดการใช้ไฟฟ้า AMI หรือที่เรียกว่า “สมาร์ทมิเตอร์” จะค่อยๆ เข้ามาแทนที่มิเตอร์รุ่นเก่าในอนาคต ซึ่งไม่เพียงจะสามารถวัดอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าได้เท่านั้น แต่ยังสามารถระบุช่วงเวลาการใช้งานระหว่างวันได้อีกด้วย สมาร์ทมิเตอร์ดังกล่าวใช้ช่องทางการสื่อสารแบบสองทาง สามารถถ่ายโอนข้อมูลการใช้ไฟฟ้าและค่าไฟระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าและการไฟฟ้าได้ ทั้งยังเอื้อต่อการดำเนินโครงการรณรงค์ประหยัดพลังงาน ซึ่งท้ายที่สุด เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้กฟภ. สามารถลดค่าใช้จ่ายในด้านต้นทุนการเป็นเจ้าของลงได้มากถึง ร้อยละ 25