นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการนำคณะทูตและผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ลงพื้นที่สำรวจสวนยางพาราในภาคใต้ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นเจ้าภาพจัดงานจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ในโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทย ระหว่างกลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กว่า 30 สถาบันฯ ทั่วประเทศ และผู้ประกอบกิจการยางพารา จากกว่า 20 บริษัททั่วโลก ระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย. ที่ผ่านนั้น ปรากฎว่าเป็นที่น่ายินดีที่ 8 ประเทศจาก 20 ประเทศ ตกลงสั่งซื้อยางทุกประเภท รวมประมาณ 58,000 ตันต่อเดือน หรือ 700,000 ตันต่อปี ถือเป็นความสำเร็จของ กยท. และประเทศไทย
นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า การจับคู่ business matching ในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางพาราได้พบกับผู้ซื้อยางเพื่อเป็นผู้ประกอบกิจการยางพาราจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงกลุ่มประเทศตลาดใหม่ ได้แก่เม็กซิโก เกาหลีใต้ ศรีลังกา อินเดีย ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และอิหร่าน เป็นต้น โดยมีการสั่งซื้อยางจากลุ่มสถาบันเกษตรกรและ กยท. คิดเป็น 57% ของจำนวนบริษัททั้งหมดที่เข้าร่วมการจับคู่เจรจาธุรกิจ
ด้านนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการ กยท.ในฐานะเจ้าภาพในการจัดงานจับคู่ทางธุรกิจครั้งนี้กล่าวว่า “การจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจในครั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรสถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ได้เพิ่มทักษะในการเจรจาธุรกิจ เพิ่มช่องทางในการจำหน่ายและยอดขายยางแปรรูปของไทยไปยังต่างประเทศและรวมถึงกลุ่มประเทศตลาดใหม่ โดยมี กยท. ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อขายยางให้แก่ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มเกษตรกรผลิตยางพาราให้มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น ทั้งนี้ ยังส่งผลให้ต่างประเทศทราบว่าประเทศไทยสามารถแปรรูปยางประเภทต่างๆ ที่มีคุณภาพดี และมีมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ได้ทั่วโลก”
Mr.Reza Ghasemian Business Owners Petro Kimya Iranian เปิดเผยว่า แต่ละปีบริษัทใช้ยางสังเคราะห์และยางธรรมชาติปีละ 3-5 พันตัน จากประเทศมาเลเซียเท่านั้น ไม่ทราบมาก่อนว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เช่นกัน เพราะฉะนั้นงานนี้จะเป็นโอกาสดีที่จะมาเห็นกระบวนการผลิตยางพาราทั้งระบบ ต่อไปในอนาคตแน่นอนก็จะมาสั่งกับผู้ผลิตยางโดยตรงเชื่อว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ราคาถูกและดีเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มีรายงาน่าว เปิดเผยด้วยว่า กยท.จะมีการกำหนดราคายางพาราแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาเดียวทั้ง 6 ตลาดกลางยางพารา อาทิ 1. ตลาดกลางสงขลา 2. ตลาดกลางนครศรีธรรมราช 3. ตลาดกลางสุราษฎร์ธานี 4. ตลาดกลางยะลา 5. ตลาดกลางหนองคาย 6. ตลาดกลางบุรีรัมย์ โดยจะใช้ราคาอ้างอิงจากเกษตรกรเป็นฐานในวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการราคากลางจะประกาศราคารับซื้อช่วงเช้าของทุกวัน
โดยนายไชยยศ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การกำหนดราคาขายยางพาราใน 6 ตลาดกลางยางพาราเป็นกลไกลใหม่ยังตอบไม่ได้ว่าจะดีหรือไม่อย่างไร แต่ต้องพิจารณาว่า ราคาที่กยท.กำหนดอยู่ที่เท่าไร ถ้ากำหนดราคาขายสูงเกินไป ก็จะมีปัญหาในการส่งออกเพราะไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่เป็นผู้ผลิตยาง ดังนั้น อาจจะทำให้คู่ค้าหันไปซื้อประเทศอื่นแทนที่ราคาถูกกว่า หรือไม่อย่างไร