กยท.กำหนดมาตรการปรับเปลี่ยนจากการปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสมเพิ่มขึ้นอีกปีละ 2 แสนไร่ เพื่อลดปริมาณยางพาราที่ล้นตลาดและเน้นการแปรรูปส่งขายมากขึ้น
นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ราคายางในตลาดเริ่มปรับตัวขึ้น 1-1.50 บาทต่อกิโลกรัม จากมาตรการซื้อขายยางพาราผ่านตลาดกลางใน 6 จังหวัด ได้แก่ ยะลา สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎ์ธานี บุรีรัมย์ และหนองคาย โดยให้ราคาซื้อขายเป็นราคาเดียวกันทั้งหมด ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศต้องมารับซื้อที่ตลาดกลาง ซึ่งการแข่งขันด้านราคารับซื้อส่งผลให้เกิดการผลักดันราคายางให้สูงขึ้น ขณะนี้มีเงินหมุนเวียนในตลาดซื้อขายเพิ่มขึ้น 250 ล้านบาท จึงเป็นแรงจูงใจให้ชาวสวนยางนำยางเข้ามาขายตลาดกลาง ล่าสุดราคายางแผ่นดิบรมควัน (16 ก.ค.) กิโลกรัมละ 45.79 บาท โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้ง กยท.มีเป้าหมายให้ราคายางสูงขึ้นไม่น้อยกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งเป็นราคาที่คุ้มทุน
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหาร กยท.จะประชุมเพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการโครงการปลูกพืชอื่นทดแทนยางพาราในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจากพื้นที่ที่ทั้งหมดกว่า 3 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี เดิมตั้งเป้าหมายจะลดพื้นที่ปลูกยางลงปีละ 400,000 ไร่ เพิ่มเป็นปีละ 600,000 ไร่ คาดว่าจะทำให้ราคาขยับขึ้น 10 บาทต่อกิโลกรัม และจะถึงเป้าหมายกิโลกรัมละ 60 บาท ช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
โดยโครงการลดพื้นที่ปลูกยางพาราเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทนนั้น มีงบประมาณ 2 ส่วน คือ งบประมาณประจำปีของ กยท.ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2558 รัฐจะสนับสนุนเกษตรกรไร่ละ 16,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณในโครงการไทยนิยมยั่งยืนที่จัดสรรให้แก่โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน ปรับเปลี่ยนสวนยางที่มีอายุเกิน 25 ปีแล้วไปปลูกพืชอื่น รัฐสนับสนุนไร่ละ 10,000 บาท โดยงบประมาณจากไทยนิยมยั่งยืนได้รับทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท รวมทั้งยังมีมาตรการห้ามกรีดยางในสวนยางพารา ซึ่งรุกเข้าไปในพื้นที่ป่ากว่า 1 ล้านไร่ มั่นใจว่ามาตรการทั้งหมดจะลดปริมาณยางสู่ตลาดได้ปีละ 300,000 ตัน
สำหรับโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทยนั้น ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง สามารถขยายตลาดเพิ่มและเปิดตลาดใหม่ โดยมีผู้ประกอบกิจการยางพาราจากจีน ไต้หวัน อินเดีย ศรีลังกา อิหร่าน เม็กซิโก และรัสเซีย รวม 27 บริษัทจับคู่ค้าเพื่อรับซื้อยางพาราจากสถาบันเกษตรกรสวนยางพารากว่า 30 แห่ง เสนอขอซื้อผลผลิตยางพาราประเภทต่าง ๆ ได้แก่ น้ำยางข้น ยางเครปขาว ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง รวมปริมาณเดือนละ 58,000 ตัน หรือคิดเป็น 696,000 ตันต่อปี
นอกจากนี้ กยท.ยังมอบหมายให้กองจัดการโรงงาน 2 กยท.เขตภาคใต้ตอนกลางที่ ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราชเพิ่มกำลังการผลิตน้ำยางข้น จากเดิม 1,500 ตัน เป็น 2,500 ตันต่อเดือน ซึ่งจะสามารถรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรได้มากขึ้น อีกทั้งให้ กยท.ทุกจังหวัดสำรวจปริมาณยางแห้งทั้งแผ่นรมควัน ยางแท่ง หรือยางประเภทอื่น ๆ รวมถึงภาคเอกชนซื้อยางดิบจากเกษตรกรมาแปรรูปเพื่อรอการจำหน่าย โดยจะนำข้อมูลมาใช้บริหารจัดการเพื่อให้ราคายางภายในประเทศมีเสถียรภาพ
นายเยี่ยม กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังได้มอบหมายให้ กยท.ทุกจังหวัดทั่วประเทศสำรวจปริมาณสต๊อกยางแห้ง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นรมควัน ยางแท่ง หรือยางประเภทอื่นๆ ซึ่งรวมถึงภาคเอกชนที่มีการซื้อยางดิบจากเกษตรกรมาแปรรูปเพื่อรอการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้บริหารจัดการเพื่อให้ราคายางภายในประเทศมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินการทั้ง 2 แนวทางนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยาง โดยจะสามารถขายยางผ่านตลาดกลาง ทั้ง 6 แห่ง และตลาดเครือข่ายของ กยท. ทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดการผลักดันราคายางในตลาดให้เพิ่มขึ้น และเกษตรกรจะสามารถขายผลผลิตยางในราคาสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจและภาพรวมของประเทศด้วย