นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ กทม. สั่ง บริษัทระบบขนส่งมวลชน จำกัด (มหาชน) (BTS) ผู้ได้รับสัมปทานบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ สายสุขุมวิท และ สายสีลม ที่เปิดใช้บริการมากว่า 18 ปี เร่งปรับระบบอาณัติสัญญาณควบคุมการเดินรถ เพื่อรองรับการย้ายไปใช้ช่องสัญญาณช่วง 800 – 900 เมกะเฮิร์ต ที่ กสทช. จัดเตรียมไว้ให้ใหม่ เพราะปัจจุบันนี้ บีทีเอส ใช้สัญญาณช่วง 2,400 – 2,500 เมกะเฮิร์ต ตรงกับช่วง “คลื่นฟรี” ที่เปิดให้ประชาชนใช้โดยไม่ต้องขออนุญาต อาทิ Wi-Fi อุปกรณ์เชื่อมต่อไร้สายต่างๆ ทำให้ในช่วงหลังมานี้รถไฟฟ้าเกิดขัดข้องบ่อยครั้ง เพราะช่วงสัญญาณนี้มีประชาชนใช้เพิ่มขึ้นมาก จึงกระทบการเดินรถ
เดิมปี 2013 , 2014, 2015 เกิดปัญหาแค่ 2, 5, 2 ครั้งตามลำดับ แต่อัตราพุ่งสูงมากในปี 2016 เกิดปัญหา 24 ครั้ง ในปี 2017 เกิดปัญหา 46 ครั้ง และจนปี 2018 ปัญหามีมากจนนับไม่ถูก บางสัปดาห์ก็หลายหน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน เช้าและเย็น ถึงขนาดบีทีเอส ต้องเปิดให้ดาวน์โหลดแบบฟอร์มรับรองการเข้างานสายกันเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ช่วงเช้าวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา ขบวนรถหมายเลข 14 ยังเกิดประตูขัดข้อง ออกจากสถานีหมอชิตไปทั้งที่ ประตูปิดไม่ได้ แม้จะเป็นเหตุการณ์เพียง 2 นาที แต่ก็สะท้อนถึงความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง บีทีเอส เร่งต้องตรวจเช็คสภาพอุปกรณ์และขบวนรถอย่างละเอียด
นายอรรถวิชช์ ชี้ว่า “ บีทีเอส จะให้บริการ ความสะดวก ความปลอดภัย ที่ต่ำกว่ามาตรฐานไม่ได้" กทม. ต้องกำกับให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามสัญญาจ้างบริหารอย่างเคร่งครัด เรื่องความปลอดภัยและการเดินรถมันต้องเป็นระบบอัตโนมัติเป็นหลัก ไม่ใช่เป็นการควบคุมด้วยมือ ไม่เช่นนั้นรถก็จะช้าไม่เป็นตามตารางเดินรถ และอันตรายด้วย ส่วนค่าปรับเงิน ปรับกันจริง หรือยัง รวมจำนวนเท่าไร และการย้ายคลื่นความถี่ บีทีเอส รับผิดชอบค่าใช้จ่ายอย่างไร ต้องรีบสรุป สำคัญต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก เพราะไม่ใช่แต่รถไฟฟ้ามาช้าแล้วไปทำงานสาย แต่มันคือความปลอดภัยในชีวิตของคน กทม. และ ผู้มาเยือนด้วย