ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจานว่า ล่าสุด ปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจานอยู่ที่ 725 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 102 และยังคงมีน้ำไหลล้นข้ามทางระบายน้ำหรือ Spillway แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน
สถานการณ์ปัจจุบัน เขื่อนแก่งกระจาน ยังคงระบายน้ำผ่านช่องทางปกติ รวมทั้งใช้กาลักน้ำที่ได้ติดตั้งเพิ่มเติมอีก 10 ชุด รวมกับของเดิมที่ติดตั้งไว้แล้วทั้งสิ้น 22 ชุด และเครื่องสูบน้ำ Hydro flow จำนวน 7 เครื่อง ยังดำเนินการสูบน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมปริมาณน้ำที่ระบายออกจากเขื่อนแก่งกระจานทั้งสิ้น 13 ล้าน ลบ.ม./วัน และควบคุมน้ำไหลผ่านเขื่อนเพชร ได้ในอัตรา 124 ลบ.ม./วินาที ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำเช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านลงสู่ท้ายเขื่อนแก่งกระจานในอัตราประมาณ 210 ลบ.ม./วินาที และไหลลงสู่ด้านเหนือเขื่อนเพชร ในอัตราประมาณ 230-250 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน จะใช้เขื่อนเพชรบริหารจัดการน้ำ โดยการหน่วงน้ำและตัดน้ำเข้าระบบชลประทาน และผันออกคลองระบายน้ำ D9 ออกสู่ทะเล ในอัตรา 90 ลบ.ม./วินาที จากนั้นจะระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรในอัตรา 140-160 ลบ.ม./วินาที ลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ไหลผ่านตัวเมืองเพชรบุรี ซึ่งอาจทำให้มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำและพื้นที่ชุมชนบางแห่งประมาณ 0.20 – 0.30 เมตร
ส่วนสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณอำเภอแก่งกระจาน ยังต่ำกว่าตลิ่งเฉลี่ย1-2เมตร บริเวณอำเภอท่ายาง ยังต่ำกว่าตลิ่ง 4.5เมตร บริเวณอำเภอบ้านลาด ยังต่ำกว่าตลิ่ง 1.5เมตร และบริเวณอำเภอเมืองเพชรบุรี ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 1.20เมตร สถานการณ์น้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ล้นตลิ่ง
กรมชลประทานและหน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำจำนวน 38 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีจำนวน 20 เครื่อง นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จากกองทัพเรือ อีกจำนวน 20 ลำ ติดตั้งบริเวณหน้าวัดคุ้งตำหนัก อำเภอบ้านแหลม เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด จึงขอให้ประชาชนชาวเมืองเพชรบุรี ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และขอให้เชื่อมั่นว่ากรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสามารถบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเพชรบุรีได้อย่างเต็มศักยภาพ