ด้วยรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เสนอหลักการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดกรอบหลักการในการดำเนินการ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” 10 เรื่อง คือ
1. สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง 2. คนไทยไม่ทิ้งกัน 3. ชุมชนอยู่ดีมีสุข 4. วิถีไทย วิถีพอเพียง 5. รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย 6. รู้กลไกการบริหารราชการ 7. รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม 8. รู้เท่าทันเทคโนโลยี 9. ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด 10. งานภารกิจของทุกหน่วยงาน (Function) ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และจะขยายผลเพื่อต่อยอดในเรื่องอื่นๆ ต่อไปให้ครอบคลุมทุกมิติ
ทั้งนี้ ภายใต้การดำเนินโครงการฯ ของกระทรวงมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยกับทีมข่าว อปท.นิวส์ว่า ได้มีการลงพื้นที่ครบถ้วนสำหรับทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล ที่ได้มีการกำหนดไว้ว่า จะลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ปัญหาความต้องการด้วยกัน 4 ครั้ง ซึ่งก็ลงพื้นที่ได้ครบถ้วนเรียบร้อยจำนวน 82,271 แห่ง ซึ่งเฉลี่ยมีประชาชนเข้าร่วม 8.08 ล้านคน โดยได้สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนตามกรอบหลัก 10 เรื่อง โดยในขณะนี้ได้แยกการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. โครงการมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการคนที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับกิจกรรมที่ทางส่วนต่างๆ จัดเตรียมไว้ ซึ่งในส่วนนี้มีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลัก โดยกลุ่มเป้าหมายคือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน ขณะนี้ทีมดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (AO) ได้สัมภาษณ์ผู้มีบัตรสวัสดิการไปแล้วจำนวน 8.24 ล้านคน มีผู้ประสงค์พัฒนาตนเอง 4.05 ล้าน สำหรับผลการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ในปี 2560 ขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนและอยู่ระหว่างการประชาคม 1,001,541 คน ประกอบด้วย ผู้พิการ 74,387 คน ผู้ป่วยติดเตียง 19,417 คน ผู้สูงอายุ 222,322 คน และผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนในปี 2560 จำนวน 685,415คน
2. แผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร ที่จะเน้นเรื่องการเกษตรและเรื่องชลประทาน โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหลักในการดำเนินการ 4 ด้าน คือ ด้านบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ การสร้างฝายชะลอน้ำ จัดหาแหล่งน้ำชุมชนและแหล่งน้ำชลประทาน 287 แห่ง /ด้านการแก้ไขปัญหาที่ดิน ได้แก่ การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรและการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเพื่อผลิตสินค้าเกษตรอื่นที่เหมาะสม /ด้านการปศุสัตว์ ได้แก่ ศูนย์ขยายพันธุ์และส่งเสริมการผลิตปศุสัตว์และการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร รวม 470,301 ราย /และด้านผลผลิตทางการเกษตร เช่น การพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืนและการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่
3. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน สำหรับหมู่บ้าน/ชุมชนละ 2 แสนบาท โดยส่วนใหญ่ได้จัดสรรงบประมาณลงไปเกือบทุกหมู่บ้านชุมชนแล้ว ซึ่งคณะกรรมการบริหารงานอำเภอและคณะกรรมการกรุงเทพมหานครได้อนุมัติโครงการ และผู้ว่าราชการจังหวัดได้เห็นชอบแผนครบทุกโครงการแล้ว โดยขณะนี้หมู่บ้าน/ชุมชนอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 ทั้งนี้ แผนงานหรือโครงการที่เสนอขอรับงบประมาณจะแบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย
โครงการประเภทสร้างอาชีพ สร้างรายได้โดยตรง /โครงการการปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยว /โครงการประเภทสร้างอาชีพสร้างรายได้โดยอ้อม /โครงการขุดลอกสระ ห้วย หนอง คลอง บึง /โครงการประเภทส่งเสริมคุณภาพชีวิต /โครงการศาลากลางบ้าน/ศาลาประชาคม/อาคารอเนกประสงค์ /โครงการสำหรับข้อมูลปัญหาความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชนจากการทำประชาคม นอกจากนี้ยังมีในส่วนของโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP ที่ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการใน 3,273 หมู่บ้าน/ชุมชน ครอบคลุม 76 จังหวัด โดยได้จัดตั้งศูนย์ประสานงาน OTOP นวัตวิถี ระดับกรมและระดับภูมิภาค รวม 12 ศูนย์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าทุกสัปดาห์
ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงปัญหาที่พบจากการดำเนินงานในการลงพื้นที่ว่า การลงพื้นที่ในแต่ละครั้งยังคงมีชาวบ้านมาร่วมอยู่น้อย หรืออาจยังคงมีแค่ผู้สุงอายุ แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจได้ ซึ่งการดำเนินงานได้มีการรายงานให้กับคณะรัฐมนตรีทุกเดือน รวมถึงกระทรวงมหาดไทยได้มีการเน้นย้ำในระดับพื้นที่เป็นหลัก โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เนื่องจากการทำงานลงพื้นที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำงานสอดคล้องและร่วมกันขับเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม นายนิสิต จันทร์สมวศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยด้วยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการ ไทยนิยม ยั่งยืน ได้รับรายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน (หมู่บ้าน/ชุมชนละ 2 แสนบาท) ดำเนินการโดยกรมการปกครอง
โดยโครงการฯ มีพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 82,233 หมู่บ้าน/ชุมชน มีหมู่บ้าน/ชุมชนเสนอโครการ 91,335 โครงการ วงเงิน 16,095 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหมู่บ้าน/ชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง จำนวน 80,176 หมุ่บ้าน/ชุมชน และเป็นชุมชนในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร จำนวน 2,057 ชุมชน
ในขณะนี้ คณะกรรมการบริหารงานอำเภอแบบบูรณาการ/คณะกรรมการ กรุงเทพมหานคร อนุมัติโครงการฯ แล้ว 79,717 หมู่บ้าน/ชุมชน รวม 90,225 โครงการ งบประมาณ 15,826 ล้านบาท โดยผู้ว่าราชการจังหวัด/ปลัดกรุงเทพมหานคร เห็นชอบแผนแล้ว 74,069 หมู่บ้าน/ชุมชน 83,329 โครงการ งบประมาณ 14,795 ล้านบาท และกองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ (CBO) ให้ความเห็นชอบแล้ว 10,063 หมู่บ้าน/ชุมชน 11,160 โครงการ งบประมาณ 2,010 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังทยอยโอนเงินลงหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อดำเนินโครงการต่อไป
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากหมู่บ้าน/ชุมชน ได้รับงบประมาณแล้ว หมู่บ้าน/ชุมชน จะเป็นผู้ดำเนินโครงการเองทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจรับงานพัสดุ ตลอดจนการเบิกจ่ายเงินโครงการ โดยจะมีคะผู้นรับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจรับพัสดุ การเบิกจ่ายเงิน และจัดทำบัญชี ซึ่งเป็นประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมประชาคน ทั้งนี้ การดำเนินโครงการทั้งหมดจะเร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2561