สศท.9 ลงพื้นที่ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 3,000 รายทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ผู้บริโภคร้อยละ 62 เคยซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพราะมั่นใจในตรารับรองมาตรฐาน ในขณะที่ร้อยละ 38 ยังไม่เคยซื้อ เพราะเห็นว่ามีราคาแพงและหาซื้อค่อนข้างยาก แนะ รุกช่องทางการจำหน่ายสินค้าในตลาดปกติทั่วไป และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้สะดวกขึ้นและเพิ่มสัดส่วนของผู้บริโภคภายในประเทศ
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการในรูปแบบคณะทำงานการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ โดยจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560 - 2564 ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้าและการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” สศก. จึงได้ดำเนินการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา (สศท.9) เป็นหน่วยงานดำเนินการ
จากการติดตามผล ในกลุ่มตัวอย่าง 3,356 ตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2561 โดยบูรณาการร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิงร้อยละ 65 เพศชายร้อยละ 35 โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ ซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ ประเภทสินค้าผักสด ร้อยละ 46 ผลไม้ร้อยละ 26 ข้าวร้อยละ 21 ธัญพืช/สมุนไพรร้อยละ 4 เนื้อสัตว์/ไข่ ร้อยละ 2 และอื่นๆ ร้อยละ 1 ตามลำดับ
ผู้บริโภคส่วนใหญ่เคยซื้อสินค้าอินทรีย์ ร้อยละ 62 โดยส่วนใหญ่ซื้อเป็นอาหารสด อาหารพร้อมปรุงกึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป และอาหารแช่แข็ง สาเหตุหลักตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์มาบริโภค เนื่องจากมีความมั่นใจในตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ว่าปลอดภัยกว่าสินค้าทั่วไป และมีความมั่นใจว่าปราศจากสารพิษและสารเคมี โดยนิยมแหล่งที่เลือกซื้อสินค้า ได้แก่ ตลาดสดปกติทั่วไป ร้อยละ 35 ตลาดนัดทั่วไป ร้อยละ 25 ตลาดเกษตรอินทรีย์ ร้อยละ 18 และตลาดโมเดิรน์เทรด ร้อยละ 10 และตลาดอื่นๆ 12
ในขณะที่ผู้บริโภคร้อยละ 38 ที่ไม่เคยซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ สาเหตุส่วนใหญ่เนื่องจากสินค้าเกษตรอินทรีย์มีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไป หาซื้อค่อนข้างยาก วางจำหน่ายไม่ต่อเนื่อง และประเภทสินค้าเกษตรอินทรีย์มีให้เลือกไม่หลากหลาย ซึ่งแม้ปัจจุบัน กระแสการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์จะเป็นที่สนใจมากขึ้น
ดังนั้น ภาครัฐจึงควรพัฒนาช่องทางตลาดให้มากขึ้นต่อไป โดยเฉพาะการส่งเสริมการผลิตอาหารอินทรีย์ในรูปของอาหารสด และจัดหาช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดปกติทั่วไป เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้สะดวกขึ้น ตลอดจนประชาสัมพันธ์ถึงคุณประโยชน์และข้อดีของการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นช่องทางการเพิ่มสัดส่วนของผู้บริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ ผลการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ ของ สศท.9 นับเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแนวทางการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ สศก. จะจัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการตลาดเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศให้มากขึ้น สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 โทร. 074 312 996 หรือzone9@oae.go.th