เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 เวลา 10.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง การจัดการน้ำตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ธนาคารน้ำใต้ดิน) โดยมี ดร.ประวิทย์ จารุรัชกุล นายกสมาคมนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้แทนส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วยนท้องถิ่น ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมเนวาด้า คอนเวนชั่น โฮเทล จังหวัดอุบลราชธานี
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในการช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี ในปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกส่วนใหญ่ทุกภาคของประเทศ เป็นพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอตามที่พืชต้องการ เป็นผลให้ผลผลิตที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น ทรงให้ความสำคัญในลักษณะ “น้ำคือชีวิต” ดังพระราชดำรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 ว่า “…หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…” ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ภายใต้หลักธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน สมาคมนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้กำหนดจัดโครงการฝึกอบรมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง การจัดการน้ำตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ธนาคารน้ำใต้ดิน) ” เพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ผู้เข้ารับการอบรม เข้าใจแนวทางการบริหารจัดการน้ำแบบสมดุล ด้วยหลักการธนาคารน้ำใต้ดิน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ให้กับประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยการสร้างโอกาสให้คนยากจนได้ใช้ประโยชน์จากน้ำและดิน สู่แปลงเกษตรผสมผสานด้วยการพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่เก็บสำรองน้ำในช่วงฤดูฝนและนำน้ำขึ้นมาใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในช่วงขาดแคลนน้ำ
วันนี้ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้ารับการอบรม จะได้รับความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำแบบสมดุล ด้วยหลักการธนาคารน้ำใต้ดิน และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ ไปชี้แจง เผยแพร่ และสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การบูรณาการ การทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำ ขาดแคลนน้ำในฤดูร้อน เกิดภัยแล้ง ภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ฤดูฝนมีน้ำหลาก เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ให้เกิดความสมดุล ช่วยให้มีน้ำอุปโภคและบริโภคได้ตลอดทั้งปี ทั้งยังได้ฝากย้ำกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชนทุกท่านที่ผ่านการอบรม ให้คำนึงถึงการดำเนินการโดยหลักการพึ่งตนเอง สำหรับพื้นที่ของครัวเรือนและพื้นที่สาธารณะขนาดเล็กอาจไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณของทางราชการอย่างเดียว และที่สำคัญต้องมีการบูรณาการงานอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วย เช่น การปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ที่ถือได้ว่าเป็นธนาคารน้ำตามธรรมชาติที่ยั่งยืนที่สุดนั่นเอง