กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจัดงานมหกรรมสมุนไพรและอาหาร ครั้งที่ 3 “กินเปลี่ยนวัย กินอย่างมั่นใจ ด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้สมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง สามารถนำพืชผัก สมุนไพรใกล้ตัว มาใช้ประโยชน์ทั้งเป็นอาหารและยาได้
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมสมุนไพรและอาหาร ครั้งที่ 3 “กินเปลี่ยนวัย กินอย่างมั่นใจ ด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน” ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย เตรียมจัดงานมหกรรมสมุนไพรและอาหาร ครั้งที่ 3 “กินเปลี่ยนวัย กินอย่างมั่นใจ ด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 2 กันยายน 2561 ณ อิมแพค เมืองทองธานี ฮอลล์ 7 – 8 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้สมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง สามารถนำพืชผัก สมุนไพรใกล้ตัว มาใช้ประโยชน์ทั้งเป็นอาหารและยาได้
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายเร่งขับเคลื่อนงานเกษตรกรรมยั่งยืนให้บรรลุเป้าหมายแผนชาติที่กำหนดให้เพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 5 ล้านไร่ ในปี 2564 โดยยึดหลักการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา เป็นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และภาคีอื่น ๆ ร่วมบูรณาการเพื่อเสริมกลไกของรัฐที่มีอยู่ โดยขับเคลื่อนทั้งระดับชุมชน จังหวัด และชาติ ส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สนับสนุนให้เกิดข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนใน 4 จังหวัดภาคอีสาน ไม่น้อยกว่า 1,000,000 ไร่ในปี 2561 ได้แก่ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และจะขยายผลไปจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป สำหรับในระยะต่อไป จะเร่งรัดดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1) การออก พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน 2) การจัดทำ Road Map ขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศ และ 3) การจัดทำฐานข้อมูลกลางเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะมีการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนเกิดขึ้นมากกว่า 5 ล้านไร่ เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในปี 2564
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ร่วมดำเนินโครงการ “โรงพยาบาลอาหารปลอดภัย” โดยจัดหาวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีให้กับผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลจะรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกร และจัดตลาดจำหน่ายสินค้าปลอดสารเคมี เพื่อให้บุคลากรและประชาชนเข้าถึงอาหาร ผัก ผลไม้ สมุนไพรที่ปลอดภัย สนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิตรายย่อยให้มีตลาดใกล้บ้าน ขณะนี้ ดำเนินการในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปครบทั้ง 116 แห่ง โรงพยาบาลชุมชนมากกว่าร้อยละ 50 และจะพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนต้นแบบเขตสุขภาพละ 1 แห่ง เพิ่มสัดส่วนของผักผลไม้อินทรีย์ให้มากกว่าร้อยละ 30 อีกร้อยละ 70 ผ่านเกณฑ์ผักผลไม้ปลอดภัย อีกทั้งเพิ่มชนิดของวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารปลอดภัย เช่น เนื้อสัตว์ น้ำมัน เครื่องปรุงทุกชนิดด้วย
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการ สวนสมุนไพรชะลอวัยดูแลสุขภาพร่างกาย กิจกรรม Workshop สมุนไพรและการดูแลสุขภาพ การอบรมระยะสั้นมากกว่า 50 หลักสูตร แจกพันธุ์สมุนไพรหายากวันละ 300 ต้นและหนังสือสมุนไพรวันละ 200 เล่ม บริการตรวจ ให้คำปรึกษาสุขภาพกับแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน หมอพื้นบ้าน การจำหน่ายสินค้าสมุนไพรคุณภาพ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารสุขภาพ และอาหารพื้นถิ่น เป็นต้น