นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรอย่างเป็นทางการนอกสถานที่และตรวจราชการพื้นที่ จ.ระนอง-ชุมพร ระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2561 ในครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง และการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดรับกับที่ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สทนช. ดำเนินการจัดทำและทบทวนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศและเร่งรัดให้ส่วนราชการต่าง ๆ ดำเนินการตามแผนงานให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและพื้นที่ในแต่ละลุ่มน้ำให้เกิดประสิทธิภาพ
โดยในปี 2557-2561 มีแผนงานจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคใต้ทั้งกลุ่มจังหวัดฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน กว่า 7,195 โครงการ ใช้งบประมาณลงทุน 29,699 ล้านบาท สามารถกักเก็บน้ำได้ 182.87 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 1.5 ล้านไร่ และมีประชาชนได้รับประโยชน์ถึง 437,164 ครัวเรือน
สำหรับในปี 2562 มีแผนงานที่จะดำเนินการอีก 1,009 โครงการ ใช้งบประมาณลงทุน 9,682 ล้านบาท สามารถกักเก็บน้ำได้ 14.65 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 263,000 ไร่ และมีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 136,794 ครัวเรือน ส่วนแผนระยะยาวตั้งแต่ปี 2563-2565 จะดำเนินการอีก 646โครงการ ใช้งบประมาณลงทุน 54,532 ล้านบาท สามารถกักเก็บน้ำได้ 177.64 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 1.16 ล้านไร่ และมีประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 361,467 ครัวเรือน
ทั้งนี้ มีแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญๆ เช่น ในพื้นที่จ.ระนอง จะมีการปรับปรุงคลองน้ำจืด อ.กระบุรี โดยการสร้างพนังกั้นน้ำ ป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายนํ้าคลองน้ำจืด บรรเทาอุทกภัย บริเวณอ.กระบุรี รวมทั้งได้เร่งรัดให้หน่วยงานเร่งทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่งคือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองน้ำจืด อ.กระบุรี มีความจุ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ส่วนอีกโครงการคือ โครงการอ่างเก็บน้ำทุ่งตาพล อ.ละอุ่นมีความจุ 10 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนในพื้นที่ จ.ชุมพร ได้ดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ตามแนวพระราชดําริ (คลองผันนํ้าคลองชุมพร) เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเมืองชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 37,500 ไร่ รวมทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำพื้นที่ เกษตร อุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 กำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 ประกอบด้วย การขุดคลองผันน้ำ จากคลองชุมพร-เหนือแยกปฐมพร การขุดขยายคลองต่างๆ ให้สามารถรับน้ำได้มากขึ้น เช่น คลองนาคราช คลองชุมพร พร้อมก่อสร้างคันกั้นน้ำ อาคารระบายน้ำ และ ประตูระบายน้ำ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมางานค่อนข้างล่าช้ากว่าแผน เนื่องจากติดปัญหาที่ดิน ซึ่งขณะนี้ได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนแล้ว และ สทนช.จะเร่งบูรณาการให้แล้วเสร็จตามแผนงาน โดยได้ขอรับงบประมาณจาก ครม.สัญจรในครั้งนี้ จำนวน 1,288 ล้านบาท
สำหรับ จ.พังงา แผนงานที่สำคัญคือ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองลํารูใหญ่ อ.ท้ายเหมือง เป็นอ่างฯขนาดกลางความจุ 14.4 ล้าน ลบ.ม. เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1,200 ไร่ แหล่งน้ำดิบเพื่อการอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยวใน อ.ท้ายเหมือง อ.ตะกั่วป่า อ. ตะกั่ว ทุ่ง และ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ลําไตรมาศ อ.ทับปุด ความจุ 5.6 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 5,800 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของอ.ทับปุด
"ตามแผนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคใต้อีกโครงการที่สำคัญคือ โครงการบรรเทาอุทกภัยคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา โครงการนี้เริ่มก่อสร้างปี2558 กำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 เมื่อแล้วเสร็จจะลดพื้นที่น้ำท่วม 21,530 ไร่ หรือประมาณ1,485 ครัวเรือน เพิ่มน้ำต้นทุนเพาะปลูกฤดูแล้งได้ 12,000 ไร่"