โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ GGC - บริษัท KTIS ลงนามร่วมบริษัท Chempolis ของประเทศฟินแลนด์ พัฒนานวัตกรรมการนำชานอ้อยมาผลิตเป็นไบโอพลาสติก สร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจและเกษตรกรเพื่อต่อยอดในโครงการนครสวรรค์เฟส 2
นายเสกสรร อาตมางกูร กรรมการผู้จัดการ GGC กล่าวว่า ตามที่ GGC และ KTIS ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันเมื่อต้นปี 2561 เพื่อศึกษาและวางแผนก่อสร้างโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (Nakhon Sawan Biocomplex) หรือ NBC ซึ่งแบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ 1เป็นโครงการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร ประกอบด้วยโรงงานผลิตเอทานอล ไฟฟ้าชีวมวล ระบบสาธารณูปโภค และระบบส่งเสริมกระบวนการผลิตกลางของโครงสร้างพื้นฐานรองรับโครงการระยะที่สอง มูลค่าการลงทุน 7,650 ล้านบาทและโครงการระยะที่ 2ประกอบด้วย โรงงานเคมีและพลาสติกชีวภาพ โรงงานอาหารเสริม มูลค่าการลงทุน10,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งระยะที่สองนี้ GGC และ KTIS มีแนวทางในการนำชานอ้อย ซึ่งเป็น Biomass มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการนำมาเป็นวัตถุดิบ ในการผลิตผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมประกอบกับ Chempolis เป็นผู้พัฒนา Cellulosic Technology ของตนเอง และสามารถนำชานอ้อยมาเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและสารมูลค่าสูงจึงสนใจในการศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อพัฒนาไปสู่โครงการในอนาคต
คาดว่า อีก5-10 ปีข้างหน้าการลงทุนก่อสร้างนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ในพื้นที่นำร่องจังหวัดนครสวรรค์ จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจชีวภาพและมูลค่าเพิ่มจากอ้อยจะเพิ่มขึ้น เกิดการพัฒนาและส่งเสริมความรู้สมัยใหม่ด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ในระยะเริ่มต้น รายได้เกษตรกรต่อคนต่อปีเพิ่มขึ้นจากอัตราการจ้างงาน ในกลุ่มพลังงานชีวภาพ เคมีและพลาสติกชีวภาพ และช่วยสนับสนุนการผลิตพลังงานชีวภาพที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนมูลค่า ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม
ในส่วนของธุรกิจปาล์มน้ำมันนั้น GGCยัง ตั้งเป้าหมายผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% หรือ B100 ในปี 2561 ให้ได้ 3.6 แสนตันต่อปี แต่จะพยายามทำให้ได้ถึง 4 แสนตันต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ระดับ 3.2 แสนตันต่อปี
นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการเพื่อส่งเสริมการลงทุนไบโอชีวภาพ ด้วยการจะแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้สามารถสร้างโรงงานหีบอ้อยใกล้เคียงโรงงานเดิมภายในรัศมี 50 กิโลเมตรได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของโรงงานเดิมในพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งวัตถุดิบอ้อยระหว่างกัน รวมถึงจะให้นำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นสินค้าอื่นอย่างเอทานอลได้นอกเหนือจากน้ำตาลทราย ตลอดจนจะให้มีสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกับการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น ก็จะทำให้โครงการ NBC ระยะที่ 2 มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากขึ้น โดยปัจจุบันก็มีผู้ประกอบการเข้ามาเจรจาร่วมลงทุนมากขึ้น โดยการลงทุน NBC ทั้ง 2 ระยะ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ดังกล่าว ยังต้องรอการประกาศที่ชัดเจน
สำหรับโครงการ NBC ระยะแรกจะอยู่ภายใต้โครงการชบา โดยจะโรงงานหีบอ้อย กำลังการผลิต 2.4 ล้านตันอ้อย/ปี ,โรงไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ (MW) และโรงงานเอทานอล 6 แสนลิตร/วัน เชื่อว่าจะเป็นโครงการที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเกษตรกร ที่ปัจจุบันมีปริมาณอ้อยเข้ามาจำนวนมาก แต่ต้องใช้ระยะเวลานานในการหีบอ้อยแล้วเสร็จ บางช่วงที่ฤดูหีบอ้อยซึ่งปกติเริ่มขึ้นประมาณเดือน พ.ย.ใช้เวลายาวนานถึงเดือน เม.ย.-พ.ค.แต่หากมีโครงการเกิดขึ้นก็จะทำให้สามารถหีบอ้อยได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเกษตรกร