นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนประชุมหารือเป็นนัดแรกในวันที่ 24 ส.ค. 2561 อาทิ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อสรุปศักยภาพปริมาณพลังงานทดแทนและจัดลำดับความสำคัญของพลังงานทดแทนที่จะเกิดขึ้นในไทย เนื่องจากที่ผ่านมาข้อมูลด้านพลังงานทดแทนของไทยยังไม่ครบถ้วนเพียงพอ และข้อมูลดังกล่าวจะนำไปใช้ในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP ฉบับใหม่ของประเทศไทยที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการอยู่ด้วย
นอกจากนี้กระทรวงพลังงานยังได้มอบหมายให้ กฟผ.ไปดำเนินการสร้างความมั่นคงไฟฟ้าในเขื่อนของ กฟผ. ด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่(โซลาร์ลอยน้ำ)ในเขื่อนของ กฟผ.ที่ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด11 เขื่อนจากการศึกษาพบ 9 เขื่อนมีความพร้อม แต่ต้องรอโครงการนำร่องที่ทำร่วมกับเครือเอสซีจีให้เกิดขึ้นก่อน ซึ่งขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการนำร่องร่วมกับเครือเอสซีจี ขนาดประมาณ 250-500 กิโลวัตต์ ติดตั้งที่เขื่อนท่าทุ่งนา จ. กาญจนบุรี หากประสบผลสำเร็จจะขยายไปยังเขื่อนต่างๆ ของ กฟผ.ต่อไป
"กระทรวงพลังงานยังไม่ได้กำหนดว่าจะให้ กฟผ.ผลิตทั้งหมดกี่เมกะวัตต์ แต่เบื้องต้นคาดว่า กฟผ.จะดำเนินการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำได้เพียง 9 เขื่อนจากทั้งหมด 11 เขื่อน เนื่องจากมีข้อจำกัดว่าการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำต้องไม่เกินปริมาณไฟฟ้าที่เขื่อนนั้นๆ ผลิตได้ เพราะสายส่งสร้างมารองรับปริมาณไฟฟ้าจากเขื่อนเป็นหลัก หากผลิตไฟฟ้าเกินจะส่งผลกระทบต่อสายส่งและจะต้องพิจารณาความไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนด้วยเบื้องต้นพบว่าเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี มีศักยภาพผลิตโซลาร์ลอยน้ำได้ 45 เมกะวัตต์ และเขื่อนภูมิพลมีศักยภาพ 700 เมกะวัตต์"
ทั้งนี้กระบวนการสรรหาผู้ร่วมลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์ลอยน้ำใน 9 เขื่อนของ กฟผ.นั้นจะต้อง จะเปิดกว้างเพื่อพิจารณาเทคโนโลยีของเอกชนที่เหมาะสมที่สุดจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนจะใช้ระบบประมูลหรือคัดเลือกนั้นจะตรวจสอบกฎระเบียบของ กฟผ.ว่าสามารถดำเนินการวิธีใดได้บ้าง