พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กสท โทรคมนาคม ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ “ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์” ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้นำเสนอภาพรวมโครงการฯ รวมถึงข้อมูลสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของโครงการ “ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์” ในงาน Market Sounding ครั้งที่ 1
ทั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ และรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนไทย และต่างประเทศที่สนใจร่วมลงทุน เพื่อหาเอกชนในการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership : PPP) บนพื้นที่กว่า 800 ไร่ บริเวณอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื่องจาก กสท โทรคมนาคม ไม่มีความชำนาญในการบริหารจัดการพื้นที่ ทำให้ต้องหาเอกชนเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ รวมถึงการขายพื้นที่ให้เอกชนมาเช่าใช้พื้นที่ด้วย
สำหรับการทำ Market Sounding ครั้งแรกนี้จะนำข้อเสนอแนะและความเห็นที่ได้รับจากการจัดงานไปประกอบการจัดทำข้อมูลโครงการในรายละเอียด และร่างเอกสารคัดเลือกเอกชน เพื่อนำเสนอในงาน Market Sounding ครั้งต่อไป ที่มีกำหนดจะจัดภายในเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าจะเปิดขายเอกสารคัดเลือกเอกชนได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 และจะพิจารณาข้อเสนอของเอกชน และประกาศผลการคัดเลือกเอกชนเข้าเป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการฯ ได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562
พ.อ.สรรพชัย กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ที่เอกชนจะเข้ามาประมูลเพื่อบริหารจัดการพื้นที่นั้น ไม่รวมพื้นที่ของกระทรวงพลังงาน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เนื่องจากที่ดินของทั้ง 2 หน่วยงานเป็นกรรมสิทธิ์ของทั้ง 2 แห่ง รวมถึงพื้นที่ของดีป้า ในการสร้างสถาบันไอโอที ที่มีงบประมาณในการสร้างเป็นของตนเอง ซึ่งขณะนี้มีบริษัทจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และไทย ให้ความสนใจ จึงต้องรอดูว่าบริษัทไหนจะเสนอแผนธุรกิจได้ดีกว่ากันโดยโครงการนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท
ด้าน นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนการสร้างสถาบันไอโอทีกำลังอยู่ระหว่างการออกแบบ โดยใช้งบประมาณในการออกแบบ 128 ล้านบาท เนื่องจากเพิ่งได้งบประมาณจากงบบิ๊กร็อกมาเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างประกาศร่างทีโออาร์ ส่วนการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือน ม.ค. ด้วยงบประมาณ 1,480 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาในการสร้าง 2 ปีครึ่ง
ทั้งนี้ ภายในสถาบันไอโอที พื้นที่ 30 ไร่ จะประกอบไปด้วย 4 อาคาร คือ อาคารพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นการสร้างเป็นศูนย์ Maker Space เพื่อให้เป็นพื้นที่ในการสร้างสินค้าต้นแบบจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ พื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ส่วนที่เหลืออีก 30,000 ตารางเมตร จะเป็นศูนย์สำหรับการทดสอบ 5G, AI/IoT Lab
ส่วนอาคารที่ 2 และ 3 พื้นที่ใช้สอย 20,000 ตารางเมตร ให้บริการครอบคลุมทั้งเรื่อง Industrial Mathematic Lab, VR & AR Lab, Testing Lab, Cloud Innovation Lab, Device Lab, Design Center และ Demonstration Space และอาคารที่ 4 เป็นการใช้งบสมาร์ทซิตี ต้องสร้างตึกให้เสร็จภายใน 1 ปี เพื่อเป็นศูนย์ IOC (Institute Operations Center) พื้นที่ 1,500 ตารางเมตร เพื่อเป็นสถานที่แสดงตัวอย่างสมาร์ทซิตีของประเทศไทย
“การพัฒนาพื้นที่โครงการดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ ต้องไม่ได้มีแค่อาคารสำนักงานเท่านั้น แต่ต้องเป็นทั้งที่อยู่อาศัย ความบันเทิง เหมือนเป็นเมืองใหม่เมืองหนึ่ง ซึ่งตอนนี้จีนและญี่ปุ่น สนใจที่จะเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่นี้อย่างมาก เราก็ต้องเลือกคนที่เสนอได้ดีที่สุดเข้ามาบริหาร” นายณัฐพล กล่าว