นับเป็นเรื่องใหม่ที่กล่าวขานกันมาระยะหนึ่งแล้วกับกำเนิด “รถไฟความเร็วสูง” ขึ้นมาใช้ในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลปัจจุบันเร่งรัดอย่างเอาจริงเอาจัง อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นหรือนำมาวิ่งของรถไฟความเร็วสูงจะก่อให้เกดการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะต่อท้องถิ่นภูมิภาคอย่างไรนั้น ยังมีคำถามเกิดขึ้นมาต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ในวาระครบรอบ 13 ปี ในการก่อกำเนิดหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาให้ความสำคัญ ซึ่งได้จัดให้มีการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “รถไฟความเร็วสูงกับการพัฒนาท้องถิ่นไทย” ขึ้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หรือว่าที่ปลัดกระทรวงคมนาคมคนใหม่ มากล่าวปาฐกถาให้รายละเอียดไว้อย่างน่าฟัง
โดยนายชัยวัฒน์ เริ่มเปิดเผยว่า เรื่องรถไฟความเร็วสูงนั้น ตัวเขาเองได้เริ่มดำเนินการมาแล้วกว่า 5 ปี ทั้งนี้ มีการศึกษาเรื่องรถไฟความเร็วสูงมาตั้งแต่ปี 2535 แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อมีรถไฟความเร็วสูงนั้น ในแผนของ สนข.ที่ทำ เรียกว่า แผนรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทย โดยแบ่งระยะการลงทุนออกเป็น 3 ระยะ ที่สำคัญทำเป็น 4 เส้นทาง คือ เส้นทางสายเหนือ วิ่งจากกรุงเทพฯ ไปพิษณุโลก เชียงใหม่ เส้นทางสายที่ 2 คือเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา แล้วไปที่ขอนแก่นและหนองคาย เส้นนี้เป็นเส้นที่เชื่อมกับประเทศจีน ผ่านมาทางลาว อีกเส้นหนึ่งคือเส้นที่ไปทางภาคตะวันออก คือจากกรุงเทพฯ ไป ที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เส้นนี้อยู่ในโครงการ อีอีซี (โครงการพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) อีกเส้นหนึ่งก็คือเส้นที่ลงไปทางภาคใต้ เราลากไปสุดจนถึงชายแดนภาคใต้ อันนี้คือแผนแม่บท
แต่ในแผนแม่บทอันนี้ใช้เงินลงทุนสูงมาก สิ่งที่ได้ดำเนินการก็คือ ในแผนแม่บทนั้นกำกับด้วยระยะของการลงทุน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ปี 2560-2564 ประกอบด้วย กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ปัจจุบันนี้เริ่มงานก่อสร้างแล้วร่วมกับจีน เส้นทางที่ 2 กรุงเทพฯ –ระยอง ตอนนี้การรถไฟฯ ขายซองแล้ว มีเอกชนเข้ามาซื้อซอง และก็จะยื่นประมูลในโครงการลักษณะรัฐร่วมเอกชน (PPP) ลงทุนโครงการนี้ อีกเส้นหนึ่งก็คือ เส้นจากกรุงเทพฯไปพิษณุโลก เส้นนี้เป็นเส้นสายเหนือ มีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประเทศญี่ปุ่นสนใจเส้นนี้มาก แล้วก็อยากจะใช้รถไฟความเร็วสูง ระบบชินคังเซน ซึ่งความปลอดภัยสูงมาก ความรวดเร็ว สะดวกสบาย สูงสุด แต่ว่าอยู่ระหว่างพูดคุยกันอยู่ ยังไม่เสร็จ อีกเส้นหนึ่งก็คือ จากนครราชสีมาไปที่หนองคาย ก็คือเส้นที่ต่อเชื่อมจากนครราชสีมาไปหนองคายเพื่อให้ครบเส้นทางสายอีสาน รัฐบาลใช้ชื่อเส้นนี้ว่า เป็นเส้นเศรษฐกิจเชื่อมภูมิภาค เป็นเส้นทางที่เชื่อมลาว จีน
“หลายท่านอาจไม่ทราบว่า ตอนนี้ประเทศจีนพัฒนาโดยใช้รถไฟความเร็วสูงในการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันรถไฟความเร็วสูงประเทศจีนนั้น ความยาวรวมทั้งสิ้น 2 หมื่น 2 พัน กิโลเมตร กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงของจีนพัฒนาไปเร็วมาก การวางระบบคมนาคมของประเทศจีน ปัจจุบันจีนประกาศนโยบายการเดินทางของประเทศด้วยวิธีการ 3 วิธี วิธีแรก คนจีนเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง เขาไม่สนใจเรื่องเครื่องบิน เพราะว่าเครื่องบิน บินจากต้นทางไปลงปลายทาง ในขณะที่รถไฟความเร็วสูงผ่านมุมเมืองใดก็ตาม สร้างความเจริญให้เมืองนั้นตลอดเส้นทาง วิธีที่ 2 ที่บอกว่าคนจีนต้องทำในการเดินทางก็คือใช้จักรยาน เป็นนโยบายสำคัญ ทุกเมืองต้องมีจักรยาน ปัจจุบันจักยานของจีนนั้นเป็นสาธารณะ คือ จอด ใช้ ใครลงทะเบียนก็ใช้ได้ วิธีที่ 3 ก็คือ การเดิน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่พัฒนารถไฟความเร็วสูงภาคอีสานเพื่อไปเชื่อมกับประเทศจีน”
ส่วนระยะที่ 2 เป็นระยะที่ต่อเนื่อง แต่เนื่องจากว่า เส้นทางกรุงเทพฯ –หัวหิน นั้น ภาคใต้เป็นเส้นทางที่มีความสำคัญ ขณะที่รัฐบาลเองก็เห็นว่า การที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งประเทศได้นั้น ควรจะเริ่มต้นคิดลงทุนรถไฟความเร็วสูงลงภาคใต้ด้วย ดังนั้น จึงทำโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – หัวหิน ขึ้นมา และใช้รูปแบบรัฐร่วมเอกชนคือ PPP ในการลงทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเพื่อจะประกาศประกวดราคาแบบ PPP (เอกชนร่วมลงทุนในการกิจการของรัฐ)
“ช่วงต่อไปที่เราคิดก็คือ เมื่อเราเริ่มโครงการจากระยะที่ 1 กรุงเทพฯ ไปที่พิษณุโลกแล้ว ต่อเนื่องจากพิษณุโลกไปเชียงใหม่ก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่อยู่ในแผนระยะกลางที่อยากจะทำต่อ ซึ่งก็จะต้องร่วมกับญี่ปุ่น แล้วก็ระยะยาวต่อจากกรุงเทพฯ ไปหัวหิน ไปสุราษฎร์ฯ ลงไปใต้ แล้วจากสุราษฎร์ฯ ไปถึงชายแดนมาเลเซีย โครงการที่เราอยากจะคิดต่อก็คือ เราอยากจะเชื่อมรถไฟความเร็วสูงของไทยกับมาเลเซีย ซึ่งเขามีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างกัวลาลัมเปอร์กับสิงค์ไปร์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เฉพาะไม่ใช่โครงข่ายในประเทศเท่านั้น แต่จะเป็นโครงช่ายเชื่อมรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างประเทศด้วย อันนี้คือยุทธศาตร์สำคัญของรัฐบาล ที่จะขับเคลื่อนประเทศทางเศรษฐกิจ แต่ส่วนสำคัญของโครงการก็คือเรื่องของเงินลงทุน แต่ละเส้นใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก หลักแสนล้าน เพราะฉะนั้น การลงทุนแต่ละเส้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ดีว่า เราพร้อมที่จะลงทุนหรือยัง โครงการต่างๆ จึงได้บรรจุอยู่ในแผน”
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ประโยชน์ที่ได้จากรถไฟความเร็วสูง นอกจากการเป็นรถไฟที่มีความเร็วสูง สะดวก สบาย ประหยัด ปลอดภัยแล้ว สิ่งที่ได้จากรถไฟความเร็วสูงนอกเหนือจากที่กล่าวก็คือ การพัฒนาเมือง โดยนายชัยวัฒน์ได้ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นว่า หากสังเกตให้ว่า ทุกสถานีรถไฟของประเทศญี่ปุ่นคือเมือง คือความเจริญอย่างแท้จริง เป็นศูนย์กลางของการเดินทาง เป็นศูนย์กลางของธุรกิจ รูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นได้ ที่เราเรียกว่า TOD หรือ Transit Oriented Development ก็คือ การพัฒนาที่พื้นที่ที่เกิดจากรถไฟหรือกากรเดินทาง ภาพนี้กำลังจะเกิดขึ้นที่ศูนย์พหลโยธิน หรือสถานีกลางบางซื่อ ที่การรถไฟฯ กำลังก่อสร้างบนเนื้อที่ ประมาณ 2,300 กว่าไร่ เป็นสถานีที่ใหญ่มาก เป็นศูนย์รวมของการเดินทาง ซึ่งที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์รวมของรถไฟความเร็วสูง รถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล และยังมีรถไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ข้างๆ อีก 2 เส้นทาง จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางของกรุงเทพมหานคร
“แต่สิ่งที่เราคิดไว้ เราอยากจะพัฒนาพื้นที่รอบๆ สถานี ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ ให้เกิดประโยชน์ในด้านที่อยู่อาศัยที่ทันสมัย ภาพนี้ก็จะเกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือการพัฒนาพื้นที่โดยอาศัยรถไฟความเร็วสูงไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งแตกต่างจากประเทศจีนที่พื้นที่ดินเป็นของรัฐบาลหมด หรืออย่างในประเทศญี่ปุ่นมีกฎหมายให้รัฐขายที่ดินให้กับเอกชนได้ ดังนั้น สถานีรถไฟของญี่ปุ่น สมัยก่อนเป็นของรัฐ รัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิก เอาเส้นทางรถไฟต่างๆ ไปให้เอกชนพร้อมขายที่ดินไปด้วย การพัฒนาจึงเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และสิ่งที่เราพบคือ รายได้จากค่าโดยสารอยู่ที่ 40% แต่รายได้จากการพัฒนาพื้นที่มีถึง 60%”
กล่าวคือรายได้ของรถไฟมาจากค่าโดยสาร 40 บาท แต่ 60 บาท มาจากการพัฒนาพื้นที่ ที่เป็นห้างสรรพสินค้า เป็นอาคารสำนักงาน เป็นคอนโดมิเนียม เป็นอาคารออฟฟิศต่างๆ ซึ่งสร้างกำไรมหาศาลมาก จนกระทั่งแต่ละเมือง เวลารัฐบาลมีนโยบายจะขยายรถไฟ ชินคังเซนออกไปอีก ทุกเมืองให้ความสนใจ ขอให้มา เพราะเขารู้แล้วว่าเมื่อรถไฟความเร็วสูงมา เอกชนมาลงทุน เกดการพัฒนาพื้นที่ เกิดการจ้างงาน เกิดการเติบโตของงาน ซึ่งคิดว่าภาพต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นแน่ในประเทศไทย แต่ขอให้เริ่มต้นนับหนึ่งก่อนคือ การมีรถไฟความเร็วสูงให้ได้ อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลตัดสินใจลงทุนรถไฟความเร็วๆ สูง
“อยากให้จับตามองโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของอีอีซี ซึ่งตอนนี้มีเอกชน 37 ราย ซื้อซองไปแล้ว และกำลังจะมายื่นขอเสนอให้กับรัฐว่าใครจะเป็นผู้ชนะที่จะลงทุนรถไฟความเร็วสูงนี้ จะเป็นภาพที่ชัดเจนมาก เพราะว่านี่คือภาคเอกชนที่จะเข้ามาร่วมกิจการของรัฐ ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดการพัฒนาเมืองขึ้นอย่างแน่นอน”
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร คือจากกรุงเทพฯ เริ่มต้นที่สถานีกลางบางซื่อ ไปที่ดอนเมือง ไปอยุธยา ไปสระบุรี ไปปากช่อง ไปนครราชสีมา ประเทศไทยเลือกความเร็วของรถไฟความเร็วสูงที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 15 นาที ค่าก่อสร้าง 1 แสน 7 หมื่น 9 พันล้านบาทเศษ โครงการนี้ร่วมกับรัฐบาลจีน เราจ้างจีน ออกแบบ คุมงาน แต่ผู้รับเหมาไทยเป็นคนก่อสร้าง ก่อสร้างโครงสร้างทั้งหมด 100% แล้วซื้อระบบรถจีนมาเดิน โดยบังคับให้จีนถ่ายทอดเทคโนโลยีในเรื่องของการบริหารจัดการระบบและซ่อมบำรุง สายนี้คาดว่าจะเสร็จในปี 2565
เส้นที่ 2 ขึ้นสายเหนือ จากกรุงเทพฯ เริ่มที่สถานีบางซื่อ ไปจอดที่ดอนเมือง ไปจอดที่อยุธยาร่วมกับสายอีสาน แล้วไปที่ลพบุรี ขึ้นไปที่นครสวรรค์ พิจิตร แล้วก็พิษณุโลก เส้นนี้เป็นโครงการความร่วมมือกับญี่ปุ่น ออกแบบความเร็วไว้ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ค่าก่อสร้าง 2 แสน 1 หมื่น 3 พันล้านบาท โครงการนี้ สนข.ศึกษาออกแบบเสร็จแล้ว และทางญี่ปุ่นวิเคราะห์การลงทุนทำการศึกษาเสร็จแล้ว ส่งมอบให้กระทรวงคมนาคมแล้ว โดยอยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอ ครม.ว่าจะเดินต่อหรือไม่
เส้นรถไฟความเร็วสูง อีอีซี ที่เชื่อม 3 สนามบิน ตอนนี้เราก็ขยายจากลาดกระบังเข้ามาที่ดอนเมืองแล้ว ดังนั้น จะเป็นรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมสนามบินดอนเมือง เชื่อมสนามบินสุวรรภูมิ แล้วก็ไปที่สนามบินอู่ตะเภา แล้วยาวไปถึงระยอง ก็เป็นอีกเส้นหนึ่งที่ออกแบบไว้ แล้วก็อยู่ในกระบวนการประกวดราคาแบบรัฐร่วมเอกชน นี่ก็ออกแบบไว้วิ่ง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขั้นต่ำ ระยะทาง 194 กิโลเมตร มี 6 สถานี คาดว่าปี 2565 แล้วเสร็จ ใช้เงินประมาณ 1 แสน 8 หมื่นล้านบาท
เส้นต่อไปเส้นลงทางใต้ เส้นกรุงเทพฯ-หัวหิน ที่จะลงไปทางใต้ อันนี้ก็เป็นอีกเส้นหนึ่งที่ตั้งใจจะทำในรูปแบบของรัฐร่วมเอกชน มูลค่าโครงการประมาณ 1 แสนล้านบาท ใช้ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มี 5 สถานี ระยะทาง 225 กิโลเมตร เริ่มจากกรุงเทพฯ ที่สถานีกลางบางซื่อ นครปฐม แล้วก็ลงมาที่ราชบุรี เพชรบุรี และก็หัวหิน
“แต่สิ่งที่อยากให้เห็นภาพ คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การพัฒนาภูมิภาค การพัฒนาเมืองจะเกิดขึ้น เพราะรถไฟความเร็วสูงคือตัวที่จะกระจายความเจริญออกไปในภูมิภาค เมืองสำคัญๆ จากกรุงเทพฯ ไปภาคอีสาน ผ่านโคราช โคราชคือเมืองใหญ่ ผ่านขอนแก่นคือเมืองใหญ่ ผ่านอุดรฯ คือเมืองใหญ่ หนองคายก็จะเป็นอีกเมืองหนึ่งที่จะเติบโตมาก เป็นเมืองชายแดนเป็นเมืองใหญ่ ทางสายเหนือ ผ่านนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เชียงใหม่ เป็นเมืองโตแน่นอน เป็นเมืองที่กระจายความเจริญทั้งหมด ไปทางตะวันออก ระยอง ชลบุรี ไม่ต้องพูดถึงโตแน่นอน ลงภาคใต้ นครปฐม เพชรบุรี ประจวบฯ ต่อไปสุราษฎร์ ไปหาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในขั้นที่ 2 เมื่อเรามีรถไฟความเร็วสูงให้บริการแล้ว จะเกิดการเหนี่ยวนำให้เกิดการพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่แน่นอน
“ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการปรับตัวของภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ที่จะต้องมองเห็นความสำคัญ ซึ่งคิดว่าเป็นโอกาส เมื่อรถไฟสมัยใหม่ รถไฟดีๆ มา มาจะเกิดการพัฒนาเมืองในรูปแบบของการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งเราต้องการอย่างนั้นอยู่แล้ว และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่จะได้ใช้รถไฟความเร็วสูงที่มีคุณภาพดีๆ เหล่านี้ นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนในภาคอุตสาหกรรมตามมาด้วย” นายชัยวัฒน์ กล่าวในที่สุด