กรมป่าไม้ ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในรูปแบบป่าชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นผู้ดูแลรักษาป่าและใช้ประโยชน์ผลผลิตจากป่า ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ส่วนสังคมและประเทศมีป่าเป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหารพร้อมเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งช่วยลดโลกร้อน ระยะเวลา 11 ปี มีป่าชุมชนขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้น 11,246 แห่ง
นางสาวสุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ป่าชุมชนเป็นกลไกสำคัญที่กรมป่าไม้ใช้ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ถึง 40% ของทั้งประเทศ ในปี 2561 จำนวนป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้เพิ่มขึ้นเป็น 11,246 ป่าชุมชน เป็นพื้นที่ป่ารวม 6,124,375 ล้านไร่ หรือประมาณ 5.9 % ของพื้นที่ป่าทั้งประเทศ ทั้งนี้ กรมป่าไม้ มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เพิ่มจำนวนป่าชุมชนใน 21,850 หมู่บ้านทั่วประเทศ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 19.1 ล้านไร่ และมั่นใจว่าเป้าหมายดังกล่าวจะสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ภายใต้พระราชบัญญัติป่าชุมชน พุทธศักราช 2561 ที่เป็นกุญแจเปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมกันดูแลผืนป่าและใช้ประโยชน์จากป่าไม้ที่ร่วมกันอนุรักษ์ได้ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงและเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญ
“กฎหมายป่าชุมชน จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ พัฒนา ฟื้นฟูป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน เพราะป่าชุมชนจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่จะต้องดูแลรักษาฟื้นฟูให้สมบูรณ์คงอยู่ และพื้นที่ป่าใช้สอย ซึ่งชุมชนสามารถใช้ประโยชน์เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ของชุมชนได้ รูปแบบนี้จะส่งผลให้ชุมชนและป่าอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ชุมชนมีความสามัคคีและเป็นกำลังสำคัญในการรักษาผืนป่าให้เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ลดโลกร้อนที่เป็นต้นเหตุของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจนเกิดภัยธรรมชาติของชุมชนและสังคมได้อย่างเข้มแข็ง”
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ถือเป็นโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR หลัก ของบริษัทฯ มุ่งหมายส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ผ่านการบริหารจัดการ ‘ป่าชุมชน’ อันเป็นกลไกที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการฟื้นฟู รักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ สามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของภาครัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบัน โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ได้ส่งเสริมชุมชนที่มีการบริหารจัดการป่าชุมชนแบบมีส่วนร่วมและมีพัฒนาการโดดเด่น โดยประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูเป็นป่าชุมชนต้นแบบรวมกว่า 1,500 แห่ง อีกทั้งยังเสริมหนุนการสร้างเครือข่ายทั้งคนรุ่นปัจจุบันและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านกิจกรรมการสัมมนาผู้นำป่าชุมชน และค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม บริษัทฯ มีเจตนารมณ์ที่จะดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเชื่อมั่นในแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของผืนป่าในรูปแบบของ ‘ป่าชุมชน’ ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการป่าไม้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ประชาชน-ภาครัฐ-เอกชน ที่มีประสิทธิภาพและได้ผลเป็นรูปธรรม เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งจากกระบวนการผลิตควบคู่กับการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ และตอบสนองกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศในเป้าหมายที่ 12 ว่าด้วยการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 13 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก