นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันอังคารที่ 18 กันยายน 2561 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 19 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และมาเลเซีย ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 234 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน คนไทย 293 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 9 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 118 ล้านบาท ได้แก่ บริการตรวจสอบคุณภาพชิ้นส่วนยางซิลิโคนสำหรับอุตสาหกรรม บริการให้คำปรึกษาและแนะนำ บริการรับจ้างผลิตปะเก็นและชิ้นส่วนป้องกันความร้อนสำหรับยานยนต์ บริการให้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะและแบบพกพา บริการให้เช่าที่ดิน บริการให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานและพื้นที่อาคารจอดรถ บริการทางบัญชี บริการให้กู้ยืมเงิน โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และสิงคโปร์
2. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 4 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 26 ล้านบาท ได้แก่ บริการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับงานโครงข่ายโทรคมนาคม บริการให้ใช้ช่วงสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ บริการติดตั้ง ซ่อมแซม บำรุงรักษา และฝึกอบรมการใช้งานเครื่องจักรและแม่พิมพ์ที่ใช้ฉีดเคลือบพลาสติกบนแผงวงจรกึ่งตัวนำ บริการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และลิกเทนสไตน์
3. ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐ จำนวน 1 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 9 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับห่อซองบุหรี่ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์
4. ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 5 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 81 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกแม่พิมพ์ สำหรับผลิตชิ้นส่วนพลาสติกที่เป็นส่วนประกอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์ การค้าปลีกเครื่องมือและอุปกรณ์ระบบอัตโนมัติสำหรับตรวจสอบและควบคุมความปลอดภัยและการทำงานของเครื่องจักรอุตสาหกรรม การค้าปลีกเครื่องจักร อุปกรณ์และชิ้นส่วนในการผลิตและแปรรูปยาง พอลิเมอร์ อีลาสโตเมอร์ พลาสติกและยางรถยนต์ การค้าปลีกอะไหล่เครื่องจักรที่ใช้ผลิตถุงกระสอบ เครื่องจักรที่ใช้สำหรับรีไซเคิลพลาสติก และเครื่องจักรผลิตแผ่นพลาสติก การค้าส่งเครื่องถ่ายเอกสารแบบอเนกประสงค์ เครื่องพิมพ์บาร์โค้ด เครื่องสแกนและอ่านบาร์โค้ด โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศมาเลเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี
การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงในอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิค การใช้เครื่องมือตรวจสอบ/ทดสอบคุณภาพ ประเภท Vernier, Microscope, และการทดสอบแบบ Water proof, Tensile tester Curelastometer, Durometer องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการใช้งานเม็ดพลาสติกเชิงวิศวกรรม องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเฉพาะและวิธีการใช้งานของเครื่องมือและอุปกรณ์ระบบอัตโนมัติสำหรับตรวจสอบและควบคุมความปลอดภัยและการทำงานของเครื่องจักรอุตสาหกรรม องค์ความรู้ขั้นสูงเกี่ยวกับระบบเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตถุงกระสอบ เครื่องรีไซเคิลพลาสติก และเครื่องทำแผ่นพลาสติก เป็นต้น
ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2561 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 ในขณะที่เงินลงทุนลดลง 814 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78 เนื่องจากเดือนสิงหาคม 2561 มีผู้ได้รับอนุญาต ให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ บริการให้กู้ยืมเงิน บริการรับค้ำประกันหนี้ และการค้าปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบระบบลม ชุดฝึกอุปกรณ์ลม เป็นต้น
อนึ่งในเดือนมกราคม – กันยายน 2561 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 197 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 8,780 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฎว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 2,470 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39 เนื่องจากในปี 61 มีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการออกแบบทางวิศวกรรมและติดตั้งเหล็กโครงสร้างรูปพรรณและผลิตภัณฑ์คอนกรีต บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น