จากนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร รวมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ให้ระดมกำลังไปปฏิบัติการในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนที่ได้รับผลกระทบแทน โดยมุ่งหวังเพื่อเติมน้ำในเขื่อนให้ได้ปริมาณมากที่สุด
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงจากเดิมในวันที่ 15 ตุลาคม 2558 จะปิดศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ เลื่อนการปิดศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 หรือจนกว่าสภาพอากาศจะไม่เอื้ออำนวย สำหรับในช่วงเดือนตุลาคม 2558 ถึงประมาณเดือนพฤศจิกายน 2558 ยังคงปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ สำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซึ่ง ณ ขณะนี้มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 9 หน่วย ได้แก่หน่วยปฏิบัติการ ฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่,ตาก,พิษณุโลก ,นครสวรรค์,กาญจนบุรี,นครราชสีมา,อุดรธานี,ระยอง และ ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเพิ่มจำนวนเที่ยวบินเพื่อช่วงชิงสภาพอากาศระยะนี้ในการเพิ่มปริมาณและการกระจายตัวการตกของฝนให้ตกเหนือเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ที่ยังอยู่ในสภาวะวิกฤติในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง
ทั้งนี้การปฏิบัติการฝนหลวงจะต้องไม่ไปซ้ำเติมความเดือดร้อนในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย ซึ่งทางศูนย์/หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจะต้องดำเนินการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ก็ได้เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก เพื่อเพิ่มรัศมีของการบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือในพื้นที่ภาคเหนือ โดยทำงานประสานร่วมกับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิษณุโลก และเชียงใหม่ ในการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนที่สำคัญในภาคเหนือ เช่น เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เป็นต้น จากผลรายงาน ซึ่งการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกคิดเป็นร้อยละ 94 ของการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง
อย่างไรก็ตามหากสภาพอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง กรมฝนหลวงและการบินเกษตรก็จะปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งจะปฏิบัติการฝนหลวงจนกว่าสภาพอากาศจะมีความชื้นต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมในการทำฝนได้
ส่วนสถานการณ์ปัญหาหมอกควันจากประเทศอินโดนีเซีย ที่มีผลกระทบต่อพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ส่งผลกระทบในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตมีค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 201 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐาน ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ มีค่าระหว่าง 48 – 108 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2558) พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงปฏิบัติการบรรเทาปัญหาหมอกควัน ดังนี้
จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสงขลา ที่สนามบินกองบิน56 โดยใช้เครื่องบิน ชนิด BT67 จำนวน 1 ลำ จากกองทัพอากาศ ช่วยเหลือพื้นที่ จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล และจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกระบี่ ที่การท่าอากาศยานจังหวัดกระบี่ ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป โดยใช้เครื่องบินเกษตร ชนิด CARAVAN จำนวน 3 ลำ ช่วยเหลือพื้นที่ จ. ช่วยพื้นที่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และ สุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ การปฏิบัติการแต่ละครั้งขึ้นกับความเหมาะสมของสภาพอากาศและทัศนวิสัย รวมทั้งการบูรณาการร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อให้การปฏิบัติการเกิดประสิทธิภาพและสามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างมีประสิทธิผล