กรมการค้าต่างประเทศรับลูก “สนธิรัตน์” สั่งสำรวจโอกาสค้าขายให้ผู้ประกอบการไทยท่ามกลางการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า พบมี 3 กลุ่มสินค้า เหล็กและอะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ อาหารทะเลสดแช่เย็น/แช่แข็ง มีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น หลังไทยไม่ถูกใช้มาตรการ แต่คู่แข่งโดน ส่วนกรณีคู่ค้าตอบโต้สหรัฐฯ ขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม ไทยก็รอด ทำให้มีโอกาสส่งออกเช่นเดียวกัน เผยได้จับตาสินค้าจีนทะลักอย่างใกล้ชิด หากใครได้รับผลกระทบ ร้องมา พร้อมจัดการให้ ระบุยังได้จับตาเรื่องการสวมสิทธิ์ส่งออกไปสหรัฐฯ อย่างเข้มงวดด้วย
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ทำการสำรวจสถานการณ์การใช้มาตรการทางการค้าของประเทศต่างๆ เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Measure : AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) และมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้ติดตามการใช้มาตรการทางการค้าของประเทศต่างๆ ว่าจะส่งผลดี ผลเสียต่อไทยอย่างไร เพื่อที่จะได้วางแผนรับมือหรือใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยพบว่า มีสินค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียม กลุ่มเคมีภัณฑ์ และกลุ่มอาหารทะเลสดแช่เย็น/แช่แข็ง ที่ประเทศนำเข้ารายสำคัญได้ใช้มาตรการกับประเทศผู้ส่งออก แต่ไทยมีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น จากการส่งออกสินค้าเข้าไปแทนคู่แข่งในตลาดที่มีการใช้มาตรการ
โดยสินค้ากลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียม ประเทศผู้นำเข้าเหล็กที่สำคัญ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ได้มีมาตรการ AD/CVD/SG กับสินค้ากลุ่มเหล็กกับประเทศคู่แข่งของไทยจำนวนมาก แต่ไทยไม่ถูกใช้มาตรการ หรือได้รับยกเว้นจากการถูกใช้มาตรการ เช่น ออสเตรเลียใช้มาตรการ AD/CVD กับสินค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (Zinc coated (galvanised) steel) และเหล็กแผ่นเคลือบอะลูมิเนียมสังกะสี (Aluminium zinc coated steel) จากจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย,ออสเตรเลีย สหรัฐฯ แคนาดา ใช้มาตรการ AD/CVD กับสินค้าอะลูมิเนียมเส้นหน้าตัด จากจีน เวียดนาม และมาเลเซีย และสหภาพยุโรป เรียกเก็บอากรปกป้อง (ชั่วคราว) กับสินค้ากลุ่มเหล็ก 28 กลุ่มสินค้า กับทุกประเทศ โดยไทยได้รับการยกเว้น
“สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม เป็นสินค้าสำคัญที่ใช้เป็นส่วนประกอบของรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ปัจจุบันประเทศผู้นำเข้าหลักยังไม่มีการใช้มาตรการ AD/SG กับสินค้าของไทย ทำให้ไทยมีโอกาสที่จะขยายตลาดส่งออกสินค้าเหล่านี้ได้ โดยไทยจะต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้ชั้นคุณภาพที่มีมาตรฐานตรงความต้องการของประเทศปลายทาง”นายอดุลย์กล่าว
ส่วนกลุ่มเคมีภัณฑ์ จีนใช้มาตรการ AD กับสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์จำนวน 20 รายการ เช่น Polyformaldehyde copolymer, Vinylidene Chloride, Acetone และPerchlorethylene เป็นต้น จากไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ และอินเดีย ใช้มาตรการ AD กับสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์จำนวน 48 รายการ เช่น Linear Alkyl Benzene, O-Acid, Ofloxacin, Resorcinol, Dimethylacetamide และ Methyl Ethyl Ketone or MEK เป็นต้น จากจีน
ขณะที่กลุ่มอาหารทะเลสดแช่เย็น/แช่แข็ง สหรัฐฯ: ใช้มาตรการ AD กับสินค้าเนื้อปลาแช่แข็ง (Certain Frozen Fish Fillets) จากเวียดนาม ในอัตราร้อยละ 63.88 ของราคา CIF โดยไทยไม่ถูกใช้มาตรการ และยังใช้มาตรการ AD กับสินค้ากุ้งแช่แข็ง (Certain Frozen Warmwater Shrimp) จาก จีน อินเดีย บราซิล และเวียดนาม ในอัตราร้อยละ 112.81, 110.90, 67.80 และ 25.76 ของราคา CIF ตามลำดับ ในขณะที่ไทยถูกเรียกเก็บอากร AD ในอัตราร้อยละ 5.34 ของราคา CIF
นายอดุลย์กล่าวว่า สำหรับการใช้มาตรการ 232 ในการขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติมของกลุ่มสินค้าเหล็ก ร้อยละ 25 และกลุ่มสินค้าอะลูมิเนียม ร้อยละ 10 ของสหรัฐฯ และทำให้มีการตอบโต้การใช้มาตรการดังกล่าวจากหลายประเทศ เช่น การเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการ SG สินค้าเหล็กของสหภาพยุโรป ตุรกี และกลุ่ม Eurasian Economic Union ได้แก่ อาร์เมเนีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และรัสเซีย แต่ไทยยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการใช้มาตรการดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวมีสัดส่วนการนำเข้าเหล็กจากไทยไม่เกินร้อยละ 3 ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด จึงทำให้ไทยได้รับการยกเว้นการใช้มาตรการ SG
ส่วนผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการ 232 ทำให้สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่จีนส่งไปสหรัฐฯ ไม่ได้ ไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งไทย ซึ่งกรมฯ ได้มีการติดตามในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และหากผู้ผลิตในไทยได้รับความเสียหาย สามารถที่จะขอให้เปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าได้ และยังได้มีการประสานกับศุลกากรสหรัฐฯ เพื่อติดตามการแอบอ้างแหล่งกำเนิดเป็นสินค้าไทย เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในอนาคต
สำหรับในช่วง 9 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.ย.) มีสถิติที่ต่างประเทศใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับสินค้าของไทย โดยใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) 10 รายการเป็นกลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์ 7 รายการ และกลุ่มเหล็ก 3 รายการ จาก 8 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ บราซิล เกาหลีใต้ จีน และปากีสถาน ใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) 2 รายการ จากประเทศสหรัฐฯ
ขณะที่ไทยมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศรวม 13 รายการ กลุ่มสินค้าที่ถูกใช้มาตรการมากที่สุด คือ สินค้ากลุ่มเหล็ก 12 รายการ และสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ 1 รายการ จาก 20 ประเทศ โดยประเทศที่ถูกใช้มาตรการมากที่สุด คือ จีน 12 รายการ รองลงมา คือ เกาหลีใต้ 6 รายการ และมีการใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) กับสินค้านำเข้า 3 รายการ ได้แก่ 1.เหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน 2.เหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน และ 3.เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนเจืออัลลอยหน้าตัดรูปตัว H
******************************