กฟผ. จับมือ กฟภ. ลงนาม MOU ศึกษาด้านเทคนิคของโครงการพัฒนาโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มุ่งสร้างเสถียรภาพระบบจ่ายและผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ดำเนินโครงการพัฒนาโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริด ตามแผนแม่บทการพัฒนาสมาร์ทกริดของประเทศไทย โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ ซึ่งจากการศึกษา พบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความเหมาะสมที่จะนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริด เข้ามาช่วยสร้างเสถียรภาพในระบบผลิตและจ่ายพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากไม่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเข้าถึง โดยมีระบบส่งไฟฟ้าขนาด 115 kV. และ 22 kV. ของ กฟภ. โรงไฟฟ้าดีเซล โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ทำหน้าที่หลักในการผลิตและส่งไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ ประชาชนในพื้นที่เผชิญกับปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง กฟผ. จึงได้ประสานความร่วมมือกับ กฟภ. เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและศึกษาการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยเทคโนโลยีสมาร์ทกริดในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้มีความมั่นคงเชื่อถือได้ อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า
ความร่วมมือระหว่าง กฟผ. - กฟภ. ใน MOU ฉบับนี้ เป็นข้อตกลงในการจัดตั้งคณะทำงานด้านเทคนิคฯ เพื่อร่วมกันศึกษารายละเอียด 4 ด้าน คือ 1) ศึกษาการเชื่อมต่อระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) เข้ากับระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามมาตรฐานทางวิศวกรรมและข้อกำหนดการเชื่อมโยงกับระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง (Grid Code) รวมถึงร่วมพิจารณาแนวทางการทำงานของ BESS ในสภาวะที่ระบบไฟฟ้าแยกโดดตัวอิสระจากระบบหลัก (Islanding Mode) และแนวทางการปรับปรุงข้อกำหนดการเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้อง 2) ศึกษาเรื่องระบบควบคุมและป้องกันของระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อรองรับช่วงการเปลี่ยนผ่านระหว่างการทำงานแบบการเชื่อมต่อระบบในสภาวะปกติ (Grid Connection) และ Islanding Mode 3) ศึกษาการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Data Exchanging) โดยศึกษาข้อมูลที่จำเป็นในการทำงานของระบบสมาร์ทกริด รวมถึงโพรโตคอลที่ใช้ในการสื่อสาร จุดเชื่อมต่อ และการนำข้อมูลจากระบบดังกล่าวไปใช้เพื่อการปรับปรุงกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้อง และ 4) ศึกษาการทดสอบและการควบคุมการทำงานของระบบสมาร์ทกริด เช่น Islanding Mode, BESS connection รวมถึงนำเสนอแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถของระบบ สมาร์ทกริดให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่มากขึ้น
สำหรับ ระบบสมาร์ทกริดในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนของ กฟผ. เป็นระบบบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้า ด้วยการนำเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและระบบสมองกลอัจฉริยะ ซึ่งควบคุมผ่านระบบที่ กฟผ. ออกแบบ มาจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลทั้งจากด้านการผลิต ส่ง และจ่ายไฟฟ้า ไปจนถึงพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้าจาก กฟภ. มาประมวลผลการทำงาน เพื่อบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ โดยสามารถรวมกำลังผลิตไฟฟ้า ทั้งจากระบบไฟฟ้าหลักและพลังงานหมุนเวียนเข้ามาร่วมรักษาเสถียรภาพในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ