การก้าวเข้าสู่ปีที่ 51 ของกรมส่งเสริมการเกษตร ในปี 2562 นี้ นับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในหลากหลายมิติ หลายปีที่ผ่านมาเราจะเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงมากมายในโลกอย่าง รวดเร็ว ทั้งภาคเศรษฐกิจ หรือภาคสังคม แม้แต่ภาคการเกษตร การเปลี่ยนแปลงภายใต้ในยุค 4.0 จึงไม่ใช่เรื่องง่ายของ นักส่งเสริมการเกษตร แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ที่พวกเรานักส่งเสริมการเกษตรจะต้องเข้าไปเผชิญและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น
นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร ในปี 2562 นี้ ว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกด้าน พวกเรานักส่งเสริมการเกษตรจะเดินเคียงคู่พี่น้องเกษตรกรไปด้วยกันอย่างเข้มแข็ง ยึดหลัก “Smart & Strong Together” ทั้งการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และร่วมรับประโยชน์ ภายใต้ 5 นโยบายหลัก ที่วางไว้ โดยเฉพาะโครงการพระราชดำริ ทุกโครงการของทุกพระองค์ ที่จะต้องร่วมขับเคลื่อน ขยายผล และส่งเสริมให้เกษตรกรน้อมนำหลักปรัชญาต่างๆ ที่พระองค์ท่านพระราชทาน มาปรับใช้และให้เกษตรกรเข้าถึงและเข้าใจในหลักการไปพร้อมกัน
กรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องทำงานเป็นทีมมากขึ้น มุ่งประสิทธิภาพกลไกขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ มุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในลักษณะตลาดนำการผลิต ซึ่งเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การพัฒนาเจ้าหน้าที่และเกษตรกร ให้เกิดการทำงานแบบควบคู่กัน ให้เข้มแข็งและเชื่อมโยงการทำงานกันทั้งระบบ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าใจและเรียนรู้ในมิติเชิงสังคมมากขึ้น พัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่ายให้เข้มแข็ง สามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางด้านการเกษตรของชุมชนได้อย่างแท้จริง พัฒนาระบบการทำงานของแปลงใหญ่ให้เข้มแข็งและยั่งยืน เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาคการผลิต และภาคการตลาด โดยเกษตรกรจะเป็นผู้ประกอบการเกษตรได้ ต้องเข้าใจว่า ควรจะขายอะไร ขายให้ใคร ผลิตที่ไหน ผลิตอย่างไร และต้องคำนึงถึงส่วนรวมด้วย อันนี้คือโจทย์ใหญ่ ซึ่งการทำให้เกษตรกรไปถึงตรงนี้ได้ นักส่งเสริมการเกษตรเอง จะต้องเป็น Smart Officer ก่อน คือเป็นนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ ต้องพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรให้มีแนวคิดเชิงธุรกิจ มุ่งเน้นการผลิตเชิงคุณภาพ นอกจากนี้การสร้างทายาทเกษตรกรและการพัฒนาเกษตรกรมืออาชีพ ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในภาคการเกษตร และนี่คือโจทย์ท้าทายสำคัญท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกอย่างรวดเร็ว การใช้เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น ทายาทเกษตรกรเหล่านี้ จะพัฒนาไปสู่การเป็น Young Smart Farmer ได้อย่างไร เป็นเรื่องที่นักส่งเสริมการเกษตร จะต้องเข้าใจถึงสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการพัฒนาเกษตรกรมืออาชีพ ให้ก้าวสู่การเป็น Smart Farmer และนี่คือ ความ Smart ที่นักส่งเสริมการเกษตร จะต้องมีและปฏิบัติให้เกิดผลจริง
นอกจากนี้ การทำงานกับเครือข่ายภาคเกษตรกร รวมทั้งภาคเอกชน ให้เกษตรกรเข้มแข็งและยั่งยืน ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจ ในมิตินี้ให้มากขึ้น Strong Together จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่จะต้องเผชิญ การทำงานแบบบูรณาการ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกขับเคลื่อนงาน ในพื้นที่ และ การเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการองค์กร และสานพลังทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการบริหารทรัพยากรบุคคลล้วนแต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งเป้าหมายของนักส่งเสริมการเกษตรคือจะต้องเป็นนักพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ ยึดหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมดำเนินการในภารกิจที่มีความเกี่ยวข้อง การปฏิบัติงานตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ของแต่ละหน่วยงาน จะช่วยลดปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน ลดความซ้ำซ้อน เกิดการระดมทรัพยากร ส่งผลให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับทราบ เข้าใจ และปฏิบัติให้ถูกต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ถือเป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อน รวมทั้งต้องสร้างเกษตรกรให้เกิดความเข้าใจในมิติของสังคมด้วย และทั้งหมดก็จะทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรและประเทศไทยก้าวไปพร้อมๆ กัน เหมือนกับที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ว่า "OUR HOME OUR COUNTRY TOGETHER STRONGER" "เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน เพราะที่นี่คือ บ้านของเรา ประเทศไทยของเรา"