กฟผ. คว้ารางวัลเกียรติยศจากการประกวดและจัดแสดงผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ในเวที “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” (iENA2018) ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมคว้า 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 4 เหรียญทองแดง และรางวัลพิเศษจากประเทศโปแลนด์ อีก 2 รางวัล มุ่งสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมพลังงานเพื่ออนาคต
ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการดำเนินธุรกิจและการสร้างประโยชน์ต่อสังคม เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยล่าสุดทีมนักวิจัยและนักประดิษฐ์ กฟผ. สามารถคว้า 10 รางวัลจาก 8 ผลงาน ในเวที “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” (iENA2018) ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ 1 – 4 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งมีผลงานเข้าร่วมจัดแสดงกว่า 800 ผลงาน จาก 30 ประเทศทั่วโลก
สำหรับการประกวดครั้งนี้ ผลงาน “เครื่องดันสายและชุดคันโยกสาย OVER HEAD” (Special Tools for Overhead Ground Wire Installation) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยติดตั้งสายล่อฟ้าบนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงโดยไม่ต้องปลดสายลงพื้นดิน ทำให้ กฟผ. ไม่ต้องดับไฟและไม่ต้องปิดกั้นถนน จึงไม่กระทบต่อประชาชน ผลงานนี้ได้รับรางวัลเกียรติยศจากคณะผู้บริหารการจัดงานประกวด และรางวัลเหรียญทองแดง ผลงาน “ประแจเปิด – ปิดวาล์วเอนกประสงค์” (Smart Wrench for Multi-Type Valves) เป็นประแจชนิดพิเศษที่ช่วยผ่อนแรงในการเปิด-ปิดวาล์ว สามารถทำงานได้หลากหลายและใช้งานในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย คว้ารางวัลเหรียญทอง ผลงาน “การออกแบบระบบการเปิดของบานประตูน้ำในโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ” (Enhancement of Wicket Gate Control System in Pumped-Storage Power Plant) ช่วยรักษาสภาพการเดินเครื่องให้อยู่ในจุดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแบบอัตโนมัติ และลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศได้กว่า 6 ล้านบาทต่อเครื่อง คว้ารางวัลเหรียญเงิน และรางวัลพิเศษจากสมาคมนักประดิษฐ์ของประเทศโปแลนด์ ผลงาน “เครื่องมือสอบเทียบไดอัลเกจแบบอัตโนมัติ” (Automatic Dial Gauge Calibrator) เป็นอุปกรณ์ที่ กฟผ. พัฒนาเครื่องมือสอบเทียบขึ้นมาใหม่ เพิ่มความรวดเร็วและความแม่นยำในการสอบเทียบ ลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศได้กว่า 2.4 ล้านบาทต่อเครื่อง คว้ารางวัลเหรียญเงิน ส่วนผลงานที่คว้าเหรียญทองแดง ได้แก่ “อุปกรณ์เคลียร์เศษโลหะออกจากสายพานท้ายเครื่องโม่ถ่านกึ่งอัตโนมัติ” (Metal Scrap Removal Machine for Lignite Belt Conveyor System) ป้องกันเศษโลหะที่ปะปนมาจากหน้างานถ่านลิกไนต์ สามารถกำจัดเศษโลหะแบบอัตโนมัติ ช่วยลดระยะเวลาการหยุดเดินเครื่องและลดค่าเสียโอกาสในการผลิตถ่านลิกไนต์ถึงปีละกว่า 23.6 ล้านบาท ผลงาน “โปรแกรมคาดการณ์ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า” (Prediction Software for Availability Declaration of Power Plant) ช่วยคาดการณ์ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าในวันถัดไป ลดการสูญเสียรายได้ และช่วยให้โรงไฟฟ้ามีค่าความร้อน (Heat Rate) ต่ำลงจากการเดินเครื่องผลิตเต็มสมรรถนะ และผลงาน “การยกระดับกระบวนการเชื่อมซ่อมหม้อน้ำด้วยอุปกรณ์ช่วยกันลม” (Enhancement of Boiler Welding with Wind Shield Box) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยแก้ปัญหาลมแรงขณะทำการเชื่อมท่อในอาคาร Boiler ที่มีความสูงกว่า 70 เมตร ลดความเสี่ยงในการเกิดจุดบกพร่องในงานเชื่อมจากลมภายนอก และเพิ่มเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีผลงาน “ระบบวางแผนและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าในยุค 4.0” (Smart Power Plant Maintenance Planning Program) ที่จะจัดเก็บประวัติการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการสั่งซื้ออะไหล่และการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ สามารถออกใบสั่งซื้ออะไหล่ได้อัตโนมัติ โดยตรวจสอบผ่าน QR Code ได้อย่างรวดเร็ว คว้ารางวัลพิเศษจากสมาคมนักประดิษฐ์ของประเทศโปแลนด์
“วันนี้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต กฟผ. จึงส่งเสริมให้พนักงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ จนได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย กฟผ. จะสร้างนักวิจัยและนักประดิษฐ์ เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมพลังงานเพื่อชีวิตที่ดีกว่า และทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยต่อไป” ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กล่าวในตอนท้าย