จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีเสน่ห์ สวยงาม มีประเพณีและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวระดับโลก และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีข้อจำกัดด้านพลังงาน คือ ไม่มีทั้งระบบผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่และสายส่งแรงดันสูงของ กฟผ. ทำให้ระบบไฟฟ้าไม่มั่นคง และเกิดปัญหาไฟฟ้าตก-ไฟฟ้าดับเป็นประจำ
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ในฐานะหน่วยงานด้านการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ได้ดำเนินโครงการนำร่องการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือสมาร์ทกริดขึ้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยความร่วมมือระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่ง “โครงการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะหรือสมาร์ทกริด จังหวัดแม่ฮ่องสอน” จะทำให้ระบบไฟฟ้า ระบบการผลิตและระบบการจ่ายพลังงานไฟฟ้ามีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต รองรับการก้าวไปสู่นโยบาย Energy 4.0
ระบบสมาร์ทกริด จะประกอบไปด้วยระบบผลิต (Generation) ระบบส่งไฟฟ้า (Transmission) ระบบจำหน่าย (Distribution) และผู้ใช้ไฟฟ้า โดยจะมีระบบสารสนเทศ ทำหน้าที่ประมวลผลให้กับระบบควบคุม วิเคราะห์ และสั่งการให้เกิดการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ โดย กฟผ. จะบูรณาการระบบผลิตไฟฟ้า จากข้อจำกัดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ไม่มีทั้งระบบผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่และสายส่งแรงดันสูงของ กฟผ. โดยไฟฟ้าที่ใช้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะมาจากระบบส่งไฟฟ้าขนาด 115 kV และ 22 kV ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ผาบ่อง กำลังผลิตติดตั้งขนาด 0.5 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแม่สะงา กำลังผลิตติดตั้ง 10.34 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนผาบ่อง กำลังผลิตติดตั้ง 0.85 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าดีเซลขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 4.4 เมกะวัตต์ เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งมีอยู่ประมาณ 13 เมกะวัตต์
จุดเด่นของสมาร์ทกริดจังหวัดแม่ฮ่องสอน คือ ระบบควบคุมที่ออกแบบโดย กฟผ. จะทำหน้าที่จัดเก็บและรวบรวมข้อมูลในด้านต่างๆ เช่น ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่กระจายอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขีดความสามารถของระบบจำหน่ายของ กฟภ. ในการส่งจ่ายไฟฟ้าและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ ระบบจะรับรู้ข้อมูลสถานะต่างๆ มากขึ้น และจะนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจสั่งการให้แต่ละส่วนทำงานร่วมกันอย่างมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันระบบควบคุม ก็จะทำหน้าที่เหมือนสมองกลอัจฉริยะที่คอยประมวลผลการทำงานของระบบผลิต ส่ง และจ่ายไฟฟ้า โดยแบ่งหน้าที่การทำงานเป็น Micro-Energy Management System (Micro-EMS) หรือระบบการจัดการพลังงาน ซึ่งดูแลทางด้านผลิตไฟฟ้า จะทำหน้าที่สื่อสารกับระบบจำหน่าย หรือ Distribution Management System (DMS) ของ กฟภ. ซึ่งดูแลทางด้านผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งจ่ายไฟฟ้าและลดการสูญเสียในระบบไฟฟ้าในกรณีที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบไฟฟ้ามากขึ้น
นอกจากนี้แล้ว กฟผ. ได้นำระบบการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) มาใช้ด้วย ซึ่งจะทำให้การจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น หากระบบไฟฟ้ามีปัญหาขัดข้อง หรือเกิดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ระบบกักเก็บพลังงานก็จะทำหน้าที่เป็นแบตเตอร์รี่สำรองส่งจ่ายไฟฟ้าให้กับระบบจำหน่าย ระบบควบคุมการจ่ายพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ ด้วยการควบคุมและสั่งการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนโดยระบบสื่อสารและสารสนเทศอัจฉริยะผ่านใยแก้วนำแสงและระบบไอซีที ให้สามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน กฟผ. และ กฟภ. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 เพื่อนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริดมาใช้เพิ่มความมั่นคงในระบบไฟฟ้าในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่โดยตรง ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยโดยกระทรวงพลังงาน เพื่อให้การพัฒนาระบบสมาร์ท กริดมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2562
ระบบสมาร์ทกริดจังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากจะช่วยเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอนในอนาคตแล้ว ยังนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าให้มั่นคงและมีประสิทธิภาพมากที่สุดรองรับการก้าวไปสู่นโยบาย Energy 4.0 ควบคู่กับการรณรงค์ให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองสีเขียว ส่งเสริมการใช้รถบัสไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้าบริการรับส่งนักท่องเที่ยว และการถ่ายทอดองค์ความรู้ของชุมชน โดยการตั้งศูนย์การเรียนรู้ที่ตำบลผาบ่อง และจัดพื้นที่จำหน่ายสินค้าของชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีรายได้และอยู่ดีมีสุขตลอดไป