นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังการให้การต้อนรับคณะผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในโอกาสการเดินทางมาตรวจประเมินพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม – เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัด สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนว่าจากผลการประชุมหารือ ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ทั้งความเป็นมา หลักเกณฑ์การพิจารณา และผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการประกาศพื้นที่คุ้มครองเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมมีความพึงพอใจ และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นและประชาชน
หลังจากนั้นคณะผู้เชี่ยวชาญฯ ได้เดินทางตรวจประเมินพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งได้ให้ความสนใจในเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ การแบ่งเขตการจัดการ และการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวให้คงสภาพความเป็นธรรมชาติ
สำหรับการตรวจประเมินในครั้งนี้มีคณะผู้เชี่ยวชาญฯ ได้เดินทางมาตรวจประเมิน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวน 2 ท่าน และเจ้าหน้าที่ศูนย์อาเซียน ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ACB).จำนวน 3 ท่าน รวมจำนวน 5 ท่าน ดังนี้ 1) Ms. Radhiyah Ruhon ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพและพื้นที่คุ้มครอง จากประเทศอินโดนีเซีย 2) ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวิทยาศาสตร์ทางทะเล จากประเทศไทย 3) Dr. Robert Mather หัวหน้าทีมที่ปรึกษาโครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ในภูมิภาคอาเซียน (BCAMP) 4) Ms. Nosrat Ravichandran ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการพื้นที่คุ้มครอง และ 5) Mr. Carlo Carlos เจ้าหน้าที่ ACB
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมประชุมมีความพึงพอใจ และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน โดยผู้เข้าร่วมการประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะในการจัดการแหล่งพื้นที่อาศัยของพะยูน อย่างมีส่วนร่วมโดยที่ชุมชนได้กำหนดกฎ กติกา ของชุมชน และช่วยกันควบคุมดูแลรักษาแหล่งหญ้าทะเล และป้องกันการใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง
นอกจากนี้คณะผู้เชี่ยวชาญฯ ได้เดินทางตรวจประเมินพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ซึ่งได้ให้ความสนใจเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะความร่วมมือจากชุมชนหมู่เกาะลิบง ที่มีการอนุรักษ์พะยูนอย่างเข้มแข็ง การร่วมบริหารจัดการพื้นที่ การแบ่งเขตการอนุรักษ์แหล่งอาศัยของพะยูน และการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวให้คงสภาพความเป็นธรรมชาติ และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ได้พบปะทักทายกับนายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ระหว่างการตรวจราชการในพื้นที่ ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ยินดีที่จะรับคำแนะนำในการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง เพื่อการสงวนรักษาไว้เป็นมรดกของจังหวัดตรัง ประเทศไทย และอาเซียน ต่อไป
หลังจากสิ้นสุดการตรวจประเมินพื้นที่ในครั้งนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญฯ จะสรุปผลการตรวจประเมินพื้นที่ให้ศูนย์อาเซียนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการอุทยานมรดกแห่งอาเซียน และคณะทำงานอาเซียนว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อพิจารณาความเหมาะสม และนำเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน พิจารณารับรองก่อนจะประกาศในการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2562
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคาดหวังว่า พื้นที่คุ้มครองทั้งสองแห่งของประเทศไทยจะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ซึ่งจะเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับตำแหน่งประธานอาเซียน ในปี พ.ศ. 2562
นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับคนสุราษฎร์ธานี ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ได้เสนอเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน และขอให้ที่ประชุมร่วมกันหารือถึงการเตรียมการหากได้รับการประกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดจากการท่องเที่ยวในเรื่องการจัดการขยะ ทั้งในเขตอุทยานแห่งชาติและเกาะสมุย